(เพิ่มเติม) สศก.คาดภาวะเกษตรปี 60 ขยายตัว 2.4-3.4% จากปีนี้หดตัว 0.5% หลังปริมาณน้ำเพิ่ม-ศก.โลกฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 20, 2016 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 60 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.4-3.4% โดยสาขาพืชขยายตัว 2.6-3.6% สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.1-2.1% สาขาประมง ขยายตัว 3.0-4.0% สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 1.5-2.5% และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2-3.2%

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีความมั่นคงด้านรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ขณะที่คาดว่าสภาพอากาศและปริมาณน้ำจะเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากกว่าปี 2559 เนื่องจากในช่วงปี 2559 ฝนเริ่มตกตามฤดูกาล ทำให้มีปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักเพิ่มขึ้น เพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเติบโตของพืชที่สำคัญ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามในเรื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2560 ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาจทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังประเทศจีนลดลง

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 59 หดตัว 0.5% เมื่อเทียบกับปี 58 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 1.8% และ 0.5% ตามลำดับ ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.8% ,2.5% และ 2.2% ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัว คือ ปรากฎการณ์เอลนีโญ และสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2559 ขณะที่การทำประมงทะเล ยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการปรับตัวและการปฏิบัติตามกฎหมายประมงของผู้ประกอบการเรือประมง และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนชะลอตัว

ทั้งนี้ หากจะพิจารณาเป็นรายสาขาพบว่า สาขาพืช หดตัว 1.8% จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานและสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อการผลิตพืชมากนัก สำหรับผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง อาทิ ข้าวรวม ในปี 2559 มีผลผลิต 29.09 ล้านตัน ลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 29.86 ล้านตัน มันสำปะหลัง มีผลผลิตรวม 30.71 ล้านตัน ลดลง 2.4% เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 31.47 ล้านตัน อ้อยโรงงาน มีผลผลิตรวม 97.34 ล้านตัน ลดลง 10.5% เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 108.76 ล้านตัน ยางพารา มีผลผลิตรวม 4.38 ล้านตัน ลดลง 0.9% เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 4.42 ล้านตัน ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตรวม 11.17 ล้านตัน ลดลง 7.2% เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 12.05 ล้านตัน สำหรับผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) มีผลผลิตรวม 1.72 ล้านตัน ลดลง 13.4% เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 1.99 ล้านตัน ด้านราคาพืชที่สำคัญในปี 2559 อาทิ ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 2.8% โดยผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น 4.4%, 6.6%, 8.7%, 2.2% และ 2.5% ตามลำดับ เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบมาตรฐานฟาร์มที่ดี และราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี

สาขาประมง ขยายตัว 2.5% โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลายลง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรคมากขึ้น ส่วนปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางลดลง

สาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 0.5% เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงจากปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าเกษตรกรจะสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้เพิ่มขึ้น แต่การจ้างบริการทางการเกษตรในภาพรวมยังคงลดลง

สาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2% จากผลผลิตไม้ยางพาราและไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รายได้เกษตรกร เฉลี่ยเดือน มกราคม - ตุลาคม 59 เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ