(เพิ่มเติม) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร เสนอมาตรการระยะสั้น-ยาวเพื่อรักษาคุณภาพข้าวหอมไทยในการแข่งขันตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 23, 2016 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU-OAE Foresight Center:KOFC) เสนอมาตรการเชิงนโยบายระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรักษาคุณภาพข้าวหอมไทย หลังครองแชมป์ชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวด World’s Best Rice 2016 ของ The Rice Trader เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ปัจจุบันข้าวหอมไทยมีคู่แข่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ข้าวหอมจากประเทศพม่า กัมพูชา และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยได้รับรางวัลชนะเลิศเช่นเดียวกัน ซึ่งในการประกวดครั้งนี้มีข้าวจากหลากหลายประเทศส่งเข้าประกวดมากกว่า 50 ตัวอย่าง ดังนั้นการส่งข้าวหอมเข้าประกวดจึงต้องมีการปรับปรุง พัฒนา และเตรียมความพร้อมมากขึ้น

สำหรับมาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1.การรักษาตลาดส่งออกข้าวในกลุ่มตลาดเดิมไว้ ร่วมกับการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การได้มาซึ่ง World’s Best Rice ของข้าวหอมมะลิ รวมถึงผลการวิจัยการพัฒนาข้าวหอมพันธุ์ใหม่ให้รู้จักแพร่หลายออกไปมากขึ้น 2.การรักษาเกณฑ์คุณภาพข้าวหอมทั้ง 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่ม และ รูปร่างลักษณะ เอาไว้ร่วมกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพข้าว ในด้านการปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมตามความต้องการของตลาด และ 3.ขยายช่องทางการตลาดในตลาดใหม่ ๆ เช่น ตลาดเม็กซิโก ที่เป็นโอกาสของไทยอันเนื่องมาจากตลาดเม็กซิโก เป็นตลาดเดิมของสหรัฐฯ แต่มีข้อจำกัดในนโยบายตามข้อตกลงการค้าเสรี NAFTA

ส่วนมาตรการระยะยาว ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตข้าวไทยให้ดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวในเรื่องแผนการพัฒนาข้าวที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ การสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว การส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล การพัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าวและการตลาด การสร้างค่านิยมการบริโภคข้าว การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและการแปรรูปข้าว และการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน

แม้ช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิอันดับ 1 ของโลกมาตลอด แต่ในระยะ 5 ปีนี้ข้าวหอมมะลิไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับข้าวหอมที่หลายประเทศส่งเข้ามาแข่งขัน ทำให้ข้าวหอมในตลาดโลก แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ข้าวบาสมาติ (Basmati rice) ซึ่งมีประเทศอินเดีย และปากีสถาน เป็นผู้ผลิตหลัก เป็นที่นิยมบริโภคอย่างมากในตลาดแถบเอเชียใต้และตะวันออกกลาง ส่วนข้าวหอมอีกกลุ่มหนึ่งถูกเรียกว่า ข้าวหอมมะลิ (Jasmine rice) มีแหล่งสำคัญเพาะปลูกอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยปัจจุบันมีประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญคือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา

ที่ผ่านมา กรมการข้าวได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพข้าวหอม โดยได้มีการวิเคราะห์ วิจัย เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในช่วงปีงบประมาณ 2555-2557 กลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองวิจัยและพัฒนาข้าว ได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพข้าวหอมมะลิ โดยสำรวจคุณภาพข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่แหล่งเมล็ดพันธุ์ แหล่งเพาะปลูก แหล่งแปรสภาพหรือโรงสี จนถึงปลายทาง คือ ผู้ส่งออก พบว่า ตัวอย่างทั้งหมดมีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทย สรุปได้ว่า ข้าวหอมมะลิยังมีความหอม แต่หอมมากน้อยแตกต่างกันตามปริมาณสารหอม 2AP ซึ่งแตกต่างกันตามแหล่งผลิต พื้นที่ปลูก วิธีการจัดการ และสภาพแวดล้อม ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวได้มีการนำไปใช้ในโครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีการจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพความหอมตลอดห่วงโซ่การผลิต ที่ได้รับการสนับสนุนงบวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)

นอกจากนี้ กองวิจัยและพัฒนาข้าว มีนโยบายในการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นคงในระบบการผลิต นอกเหนือจากข้าวเจ้าหอมมะลิแล้วยังมีข้าวเหนียวหอม ข้าวเจ้าหอมอื่น ๆ ที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดวิกฤตการณ์ เช่น การระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารอีกทางหนึ่ง รวมทั้งกรมการข้าวยังได้พัฒนาพันธุ์ข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ (niche market) อีกด้วย โดยตัวอย่างพันธุ์ข้าวดังกล่าว ได้แก่ ข้าวเหนียว พันธุ์ กข22, ข้าวเจ้า พันธุ์ กข33 (หอมอุบล 80), ข้าวเจ้า พันธุ์ กข69 (ทับทิมชุมแพ), ข้าวเจ้า พันธุ์สังข์หยดพัทลุง, ข้าวเหนียวลืมผัว (Leum Pua)

ทั้งนี้ มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมทั่วไป ประกอบด้วย ข้าวหอมจังหวัดและข้าวหอมปทุม ซึ่งในปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่า สัดส่วนการส่งออกข้าวเจ้าอื่นมีสัดส่วนมากที่สุด คือ 42% รองลงมาเป็นข้าวเจ้าขาว 5% ข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้าขาว 100% และข้าวหอมปทุม

สำหรับสถานการณ์ส่งออกข้าวหอมมะลิไทยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 1.4 ล้านตัน โดยในปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิปริมาณ 1.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีปริมาณส่งออก 1.57 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 16% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และแคนาดา ซึ่งไทยยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดข้าวเป็นอันดับหนึ่งในหลายประเทศ

นายภูมิศักดิ์ กล่าวถึงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกว่า ต้องมาดูเรื่องความสามารถในการผลิตเทียบกับประเทศคู่แข่งด้วย เนื่องจากผลผลิตเราต่ำ ในเขตใช้น้ำฝนปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 400 กก./ไร่ ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 600 กก./ไร่ ส่วนผลผลิตในเขตชลประทานอยู่ที่ 800-900 กก./ไร่ ซึ่งในส่วนของการวิจัยมีเป้าหมายจะยกระดับผลผลิตในเขตใช้น้ำฝนเป็น 1,000 กก./ไร่ เขตชลประทานให้ได้ 1,500 กก./ไร่ ซึ่งในทางทฤษฎีมีความเป็นไปได้ เนื่องจากมีข้าวบางพันธุ์ที่มีศักยภาพถึง

นอกจากนี้ ตลาดส่งออกข้าวเป็นตลาดที่เราไม่สามารถตั้งราคาในตลาดโลกได้ โดยราคาของเรากับราคาคู่แข่งใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเทียบกำไรจะแค่พออยู่ได้ ทางที่เราจะแข่งขันในตลาดโลกได้คือการลดต้นทุน ในเรื่องของการทำการตลาดก็สำคัญ ซึ่ง Position ของข้าวคือตลาด Mass เพราะในทางเศรษฐศาสตร์มีเงินเพิ่มแต่ก็ไม่ได้กินข้าวเพิ่ม เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทย ทั้งเพิ่มวิตามิน เพิ่มโภชนาการ ซึ่งเรียกว่า"ธัญญะโอสถ"กินแล้วได้ประโยชน์ ขายน้อยแต่ได้มาก ทำให้ข้าวไทยอยู่ในตำแหน่งระดับพรีเมี่ยม

ส่วนแนวโน้มราคาข้าวในปี 60 มองว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยยังมี โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อัตราแลกเปลี่ยนทั้งเราและคู่แข่งต่างมีทิศทางอ่อนค่า ซึ่งหากค่าเงินบาทอ่อนค่าสูสีกับคู่แข่งก็คงไม่มีปัญหา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ