กยท.สำรวจพื้นที่ปลูกยางจมน้ำแล้วกว่า 5 แสนไร่, สศก.รอประเมินผลผลิตเชื่อราคาดีดตัวขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 9, 2017 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการด้านธุรกิจและปฏิบัติการ ผู้แทนคณะผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า จากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นไปแล้ว 8 จังหวัด รวมพื้นที่ประมาณ 16 อำเภอ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และตรัง เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือนที่พื้นที่ภาคใต้ประสบปัญหาฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้สวนยางพาราของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 11 ล้านไร่ ได้รับผลกระทบจากต้นยางถูกน้ำท่วมไปแล้ว 5.3 แสนไร่

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานความเสียหายผลกระทบด้านการเกษตร มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 391,568 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายรวมทั้งหมด 982,694 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 251,348 ไร่ พืชไร่อื่นๆ 21,673 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 709,673 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นต้นยางถูกน้ำท่วม 531,876 ไร่ จากจำนวนพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดในภาคใต้ 11,385,910 ไร่

นายธีรวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า หลังจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ของ กยท. เข้าไปประเมินความเสียหายของพื้นที่สวนยางที่ถูกน้ำท่วม เพื่อสำรวจต้นยางที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้รับความเสียหายอย่างชัดเจน พร้อมทั้งให้คำแนะนำดูแลสวนยางที่ถูกน้ำท่วมขัง เพื่อฟื้นฟูสวนยางอย่างถูกวิธี

ด้าน น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า สถานการณ์ในภาคใต้ขณะนี้น่าจะกระทบทำให้เกษตรกรออกไปกรีดยางไม่ได้ รายได้เกษตรกรน่าจะขาดหายไป ส่วนทิศทางราคายาง คงต้องการประเมินความเสียหายที่แน่นอน และรอดูว่าปริมาณฝนจะลดลงหรือไม่ ภาวะน้ำท่วมจะคลี่คลายได้เร็วแค่ไหน ประกอบกับต้องดูทิศทางเศรษฐกิจโลก สต็อกโลก ปริมาณผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้านว่าจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศด้วยหรือไม่

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้เวลานี้ สร้างความเสียหายให้พื้นที่ปลูกยางและเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมาก แต่คาดว่าราคายางน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องติดตามเศรษฐิกจประเทศผู้ซื้อด้วย ประกอบกับความต้องการซื้อของผู้ประกอบการที่ยังคงขาดแคลนยางหรือส่งมอบอีกทั้งนักลงทุนขานรับตัวเลขจ้างงานของสหรัฐฯเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดล่วงหน้าโตเกียวปิดทำการเนื่องในวันฉลองบรรลุนิติภาวะ (Age Day)

น.ส.จริยา กล่าวอีกว่า ฝนที่ตกลงมาที่ภาคใต้ในช่วงนี้ต้องดูว่าเป็นฝนประจำฤดู หรือ เป็นปรากฎการณ์ลานินญา โดยจะต้องดูการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งโดยปกติช่วงพ.ย.-ธ.ค.จะเป็นฤดูฝนของภาคใต้ เมื่อฝนมาแล้วจะไหลลงสู่ทะเล สู่แม่น้ำตาปี สุไหงโกลก แต่เป็นไปได้ว่าฤดูฝนปีนี้อาจจะมาล่าช้า แต่มาเร็วและแรง และฝนเดิมอาจจะอยู่ในพื้นที่ พอมีฝนตกซ้ำกลายเป็นฝนสะสม ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่าอาจจะต้องมีการทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำของเรา

ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯในแต่ละเขตรับผิดชอบกำกับดูแล โดยต้องสำรวจความเสียหายจริงเพื่อทำแผนการฟื้นฟูเยียวยาเป็นรายจังหวัด รวมถึงเร่งรัดการช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 ครัวเรือนละ 3,000 บาท ให้ถึงมือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด

พร้อมกันนั้นจะเตรียมงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูเกษตรกร พื้นที่เกษตรกรรม และการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งงบประมาณให้ความช่วยเหลือจะใช้งบปกติของกระทรวงเกษตรฯก่อน หากไม่เพียงพอจะเสนอของบกลางต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ