(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจ ธ.ค.ขยายตัวต่อเนื่องหลังส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้น มาตรการกระตุ้นใช้จ่ายหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 31, 2017 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค.59 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวสูงทั้งรายจ่ายประจำและลงทุน และมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวชัดเจน สอดคล้องกับการผลิตในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมวีซ่าชั่วคราวสำหรับบางประเทศ ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับดีขึ้นตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังกระจุกตัวในบางธุรกิจ

น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในเดือน ธ.ค.มูลค่าการส่งออกสินค้าฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยขยายตัว 5.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศในหลายสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ แผงวงจรรวม (IC) เพื่อผลิตสมาร์ทโฟน รถยนต์และอุปกรณ์เพื่อรองรับ Internet of Things (IoT) สอดคล้องกับการขยายกำลังการผลิตในช่วงก่อนหน้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวตามการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปยังอินเดีย ประเทศในตะวันออกกลาง และเวียดนาม และการส่งออกแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังสหรัฐฯ

นอกจากนั้น ยังมาจากอุปสงค์ที่เร่งขึ้นชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าสินค้าจากจีน อาทิ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ผลิตยางล้อไปสหรัฐฯ และ สินค้าที่ราคาส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันบรรลุข้อตกลงการลดกำลังการผลิต และปริมาณที่ขยายตัวจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าปิโตรเคมีไปจีน

ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อยตามการผลิตในหลายหมวดสินค้าสอดคล้องกับภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม การผลิตในกลุ่มยานยนต์หดตัวสูงเนื่องจากผู้ผลิตบางรายหยุดการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิตเป็นรถยนต์รุ่นใหม่

สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวสูงที่ 10.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ขยายตัวตัวสูงต่อเนื่อง โดยการนำเข้าเชื้อเพลิงขยายตัวจากทั้งปริมาณเนื่องจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน และราคาที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ การนำเข้าโลหะขยายตัวตามการผลิตเหล็กแผ่นสำเร็จรูปเพื่อใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและเตรียมผลิตรถยนต์และการนำเข้าชิ้นส่วนแผงวงจรรวม พลาสติก และ เคมีภัณฑ์ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกของสินค้าดังกล่าว

ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่กลับมาขยายตัวได้ที่ 1.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อขจัดผลของฤดูกาลจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 9.0% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ปรับดีขึ้นบ้างหลังการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายในช่วงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมวีซ่าเป็นการชั่วคราวสำหรับบางประเทศโดยเริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค.59

การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับดีขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้านรายได้ในอนาคต สอดคล้องกับภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนหดตัวจากผลของฐานที่สูงในระยะเดียวกันปีก่อนจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในเดือน ม.ค.59

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนภาคการก่อสร้างและการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์อย่างไรก็ดี ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนและกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจบริการและขนส่ง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกับการส่งออกและการก่อสร้างของภาครัฐ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.13% เร่งสูงขึ้นจาก 0.60% ในเดือนก่อนตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวตามต้นทุนโดยรวมและแรงกดดันจากอุปสงค์ในประเทศยังต่ำ อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน

ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากทั้งดุลการค้าตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัว และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจาก 1)การนำเงินออกไปฝากในต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยเฉพาะในฮ่องกง มาเก๊า และจีน และ 2) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย (TDI) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทในเครือธุรกิจอาหารในสหรัฐฯ

ธปท.ยังระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/59 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้ามีทิศทางฟื้นตัวชัดเจนขึ้นทั้งด้านราคาและปริมาณ สอดคล้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมชะลอลงจากปัจจัยชั่วคราวในประเทศ อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปีมีส่วนช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนได้บางส่วน

ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวในอัตราที่ลดลงแต่ยังจำกัดอยู่ในบางธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการ พลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมที่การส่งออกปรับดีขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสด อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากดุลการค้าตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ