(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ม.ค.60 ส่งออกโตพุ่ง 8.8% นำเข้าโต 5.17% เกินดุลการค้า 826 ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 27, 2017 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ม.ค.60 การส่งออกขยายตัว 8.8% จากตลาดคาด 7-8% โดยการส่งออกมีมูลค่า 17,099 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่นำเข้าขยายตัว 5.17% มีมูลค่า 16,273 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 826 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ นักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป ต่างปรับตัวในทิศทางที่ดี ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกไทยในเดือนม.ค. 60 ขยายตัวได้ 8.8% ต่อเนื่องจากปี 59 เป็นเดือนที่ 3 และกลับเข้าสู่ระดับปกติเฉลี่ยของการส่งออกอีกครั้ง

สำหรับสินค้าสำคัญที่เป็นตัวผลักดันการส่งออกในเดือนนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ ทองคำ ยางพารา น้ำมันสำเร็จรูป ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และยานพาหนะ ในขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาด ยกเว้น ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และแอฟริกา

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัว 9.7% (YoY) โดยการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัว 62.5% (ราคาตลาดโลกสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยส่งออกไปจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 48.8% (ส่งออกไปสหรัฐฯ เวียดนาม และจีน) ไก่แปรรูป ขยายตัว 8.6% (ส่งออกไปญี่ปุ่น ลาว และเกาหลีใต้) ในขณะที่ สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังคงหดตัว ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง (ลดลง 20.2% 11.1% และ 13.3% ตามลำดับ)

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.7% (YoY) โดยการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 4.0% (ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย) ในขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรสำคัญที่ยังคงหดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย (ราคาสูงที่สุดในรอบ 3 เดือน แต่ปริมาณส่งออกลด) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ลดลง 26.3% และ 6.8% ตามลำดับ)

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 7.6% (YoY) โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ทองคำ ขยายตัว 157.6% (ส่งออกไปสิงคโปร์ กัมพูชา และฮ่องกง) เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 30.1% (ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 8.6% (ส่งออกไปตลาดฮ่องกง จีน และสหรัฐฯ) น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัว 48.3% (ส่งออกไปตลาดสิงคโปร์ จีน และเวียดนาม) ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 1.5% (ส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 28.2% (ส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น) ในขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัวมาก ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณี เครื่องประดับไม่รวมทอง (ลดลง 5.9% 6.4% และ 4.7% ตามลำดับ)

ขณะที่การส่งออกในตลาดสำคัญของไทยกว่า 80% ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 59 ขณะที่ ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และทวีปออสเตรเลีย หดตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก ขยายตัว 8.8% โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (15) มีการขยายตัวสูงสุดที่ 10.4% สหรัฐฯ และญี่ปุ่นขยายตัว 9.5% และ 6.4% ตามลำดับ

สำหรับตลาดศักยภาพสูง ขยายตัว 14.7% โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดจีน และเอเชียใต้ ที่ขยายตัว 30.8% และ 24.0% ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปยังเกาหลีใต้ อาเซียน (9) และ CLMV ขยายตัว 28.1% 10.3% และ 6.4% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และทวีปออสเตรเลีย ยังหดตัวที่ 19.2% 1.6% และ 0.3% ตามลำดับ

ด้านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนม.ค. 60 หดตัวที่ 15.1% โดยเป็นผลจากการหดตัวของการนำเข้าเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง มีรายละเอียด ดังนี้ การค้าชายแดน (ระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) มีมูลค่า 73,722 ล้านบาท (ลดลง-15.0% )แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 49,650 ล้านบาท ขยายตัว 0.4% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 24,072 ล้านบาท หดตัว 35.5% ในขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) มีมูลค่า 15,260 ล้านบาท (ลดลง 15.1%) รวมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนมีมูลค่าทั้งสิ้น 88,981 ล้านบาท (ลดลง 15.1%)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ