นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการตราพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 เพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ให้ประเทศไทยมีมาตรการทางกฎหมายและกระบวนการตรวจสอบการส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ และตราสารเปลี่ยนมือ ออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามมาตรฐานของ Financial Action Task Force (FATF)
โดยได้มีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ และตราสารเปลี่ยนมือออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศ รวมทั้งกำหนดให้เงินตรา เงินตราต่างประเทศ และตราสารเปลี่ยนมือเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร โดยกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือตราสารเปลี่ยนมือออกไปนอกประเทศหรือนำเข้ามาในประเทศ และออกประกาศกระทรวงการคลังพร้อมทั้งปรับปรุงประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 3 ฉบับ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อกำหนดจำนวนเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือตราสารเปลี่ยนมือ ที่บุคคลผู้ส่งหรือนำออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศจะต้องแจ้งรายการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรในขณะที่ผ่านศุลกากรทุกแห่ง ดังนี้
1. กรณีเงินตราไทยที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ที่มีมูลค่าเกินกว่า 450,000 บาท
2. กรณีเงินตราต่างประเทศที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ที่มีมูลค่ารวมกันแล้วเกินกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่า
3. กรณีตราสารเปลี่ยนมือ (ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน เช็ค หรือตราสารอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด) ที่ไม่ระบุชื่อผู้รับเงินและไม่มีข้อกำหนดห้ามเปลี่ยนมือ
(ก) กรณีตราสารเปลี่ยนมือที่ระบุจำนวนเงินเป็นเงินบาท อันมีมูลค่ารวมกันแล้วเกินกว่า 450,000 บาท
(ข) กรณีตราสารเปลี่ยนมือที่ระบุจำนวนเงินเป็นเงินตราต่างประเทศ อันมีมูลค่ารวมกันแล้วเกินกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่า
4. กรณีเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือตราสารเปลี่ยนมือ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 450,000 บาทหรือเทียบเท่า
ทั้งนี้ กำหนดมูลค่าของเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือตราสารเปลี่ยนมือ ที่บุคคลผู้ส่งหรือนำออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศจะต้องแจ้งรายการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรในขณะที่ผ่านศุลกากรทุกแห่ง และเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ในการรองรับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย