BOI เผยยอดส่งเสริมการลงทุนถึง Q1/60 กว่า 5.7 แสนลบ.จากเอกชนไทย-ต่างชาติทั้งรายเก่าและใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 9, 2017 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยภาพรวมการลงทุนตั้งแต่ปี 59 ถึงไตรมาสแรกของปี 2560 เกิดการลงทุนจริงแล้วคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 570,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดการลงทุนจริงจากโครงการอื่นๆ ในช่วง 1-3 ปีนี้ อีกไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท

โดยในช่วง 3 เดือนปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 293 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 61,980 ล้านบาท โดยเป็นโครงการลงทุนใหม่ 182 โครงการ เงินลงทุนรวม 42,452 ล้านบาท คิดเป็น 68% ของเงินลงทุนทั้งสิ้น และเป็นโครงการขยายจากกิจการเดิมที่ได้ลงทุนแล้ว 111 โครงการ เงินลงทุน 19,528 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 32% ของเงินลงทุนทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า 55% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนเป็นกิจการที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S Curve) จำนวน 76 โครงการ เงินลงทุนรวม 7,800 ล้านบาท เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S Curve) จำนวน 142 โครงการ เงินลงทุนรวม 34,300 ล้านบาท

โดยช่วงที่ผ่านมามีโครงการลงทุนทั้งกิจการของคนไทยและจากต่างประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ กลุ่มนักลงทุนไทย เช่น บริษัท กรุงเทพ สเต็มเซลล์ วิจัยและพัฒนา จำกัด ทำการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง, บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด ทำการวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า, บริษัท อินทรีดิจิตอล จำกัด บริษัทของคนไทยที่พัฒนาซอฟแวร์ขนาดใหญ่สำหรับบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังกลุ่มบริษัทใหม่ๆ จากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ บริษัท อีเลฟเว่น สตรีท ของเกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนกิจการซอฟต์แวร์และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท SK Group บริษัทชั้นนำใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีบริษัทในเครือในหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน เคมีภัณฑ์ ไอที และธุรกิจบริการ และการลงทุนในครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนในไทยครั้งแรกของบริษัท

สำหรับบริษัทชั้นนำรายเดิมที่มีการลงทุนอยู่แล้วและได้ขยายการลงทุนเพิ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกค่าย ขณะเดียวกันก็มีบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกทุกรายได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้วและขยายการลงทุนเพิ่ม เช่น บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ขยายกิจการผลิตยางเรเดียลสำหรับยานพาหนะ, บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางเรเดียล และบางรายได้ขยายไปสู่การผลิตยางล้ออากาศยาน เช่น บริษัท บริดจสโตน สเปเชียลตี้ไทร์ แมนูแฟค เจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางล้ออากาศยาน, บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางล้ออากาศยาน ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของโลกอย่าง บริษัท โรเบิร์ตบ๊อช ออโตโมทีฟเทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้ลงทุนในไทยมายาวนาน ก็ได้ขยายการลงทุนไปสู่กิจการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ของไทย เป็นต้น

หรือในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท มินิแบ นอกจากขยายการลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังขยายการลงทุนไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานด้วย และบริษัท โซนี่ ได้ขยายการลงทุนไปผลิตสมาร์ทโฟนและชิ้นส่วนด้วยเช่นกัน

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บริษัท ชิน-เอทสุ ซิลิโคนส์ ผู้ผลิตซิลิโคนส์อันดับหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น มีการขยายการลงทุนครั้งที่ 3 ของบริษัท และทำให้ประเทศไทยเป็นการขยายฐานที่ใหญ่กว่าในประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำการผลิตพอลิเมอร์ชนิดพิเศษ, บริษัท เอ็กซ์พาลแกน ผู้ผลิตกรดแลคติก ได้ต่อยอดไปสู่การผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ในประเทศไทย เป็นต้น

เลขาธิการ BOI กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 BOI ได้พบปะหารือกับคณะนักลงทุนจากต่างประเทศที่แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวม 12 คณะ จาก 8 ประเทศ (ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ บราซิล เนปาล) รวมจำนวนนักลงทุน 124 ราย โดยมีความสนใจจะลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร รถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนกิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก แม่พิมพ์ ยา เหล็ก ซอฟต์แวร์ และสนใจการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

สำหรับช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ BOI จะติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยมั่นใจว่าหลังจากนักลงทุนได้ทราบรายละเอียดและความชัดเจนของการส่งเสริมการลงทุนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไขใหม่ และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะมีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น จะทำให้การขอรับส่งเสริมการลงทุนจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมนี้ สำนักงานบีโอไอในต่างประเทศจะนำคณะนักธุรกิจนักลงทุนเดินทางมาร่วมดูลู่ทางการลงทุน และเยี่ยมชมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจภายในงานซับคอนไทยแลนด์ 2017 รวมจำนวนกว่า 12 คณะ จำนวนรวมประมาณ 400 ราย อาทิ จากประเทศญี่ปุ่น จีน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย เป็นต้น

อีกทั้ง BOI ยังมีกิจกรรมเดินสายชักจูงการลงทุนในประเทศเป้าหมาย รวมอีก 21 ครั้ง ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย.60 อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในยุโรป และออสเตรเลีย


แท็ก BOI  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ