กสทช.เร่งจัดสรรคลื่นความถี่ ประเดิม 2600 MHz, DTAC จี้จัดสรรคลื่นให้เพียงพอ-อย่าเน้นแค่หารายได้สูงมาก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 9, 2017 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.อยุ่ระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... (พ.ร.บ. กสทช.) คาดว่าจะออกมาในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ได้ มีเป้าหมายภายในปี 63 จะจัดสรรคลื่นความถี่ต่างๆ ที่กำลังจะหมดสัญญาลง ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่จะเป็นความถี่แรกที่จะจัดสรรในด้านโทรคมนาคม เพื่อชดเชยให้ผู้ถือครองคลื่นดังกล่าว จากนั้นทาง กสทช. ก็มีความพร้อมที่จะเปิดประมูลคลื่นความถี่ ไม่น้อยกว่า 70 MHz แบ่งเป็น 3-4 ใบอนุญาต

ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 45 MHz และย่าน 850 MHz จำนวน 10 MHz ที่จะหมดสัญญาสัมปทานของ บมจ. กสท.โทรคมนาคม (CAT) ทาง กสทช.จะนำมาเปิดประมูลให้ได้ในช่วงปี 61 ก่อนที่จะหมดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย.61 อีกทั้งยังมีคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 90 MHz ที่จะประมูลในปี 63 คาดว่าจะสามารถจัดสรรได้อีก 3-4 ใบอนุญาต

ทั้งนี้ นโยบายด้านโครงข่ายไร้สายโดยปัจจุบัน มีการจัดสรรคลื่นความถี่เพียง 420 MHz ซึ่งยังห่างไกลจากคำแนะนำของ ITU ที่ประเทศไทยควรมีคลื่นความถี่ในการใช้งานมากกว่า 700 MHz

ส่วนนโยบายด้านโครงข่ายแบบมีสาย โดยในอีก 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Fixed Broadband) ได้ทุกพื้นที่ และทุกคนจะใช้ผ่านโครงข่ายแบบมีสายและโครงข่ายแบบไร้สาย (Mobile Broadband) ซึ่งจะครอบคลุมหมู่บ้าน 74,965 หมู่บ้าน ด้วยความเร็ว 30 เมกะบิต สำหรับการดาวน์โหลดและอัพโหลด คาดว่าภายในครึ่งปีแรกของปี 61 จะสามารถใช้งานได้

ขณะที่ความปลอดภัยของการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล จากพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงิน อย่าง Mobile banking รวมถึงการควบรวมกิจการระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจการเงิน ภาคโทรคมนาคม กับ ธุรกิจฟินเทค (Fintech) ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทาง กสทช.ก็มีการเพิ่มระบบความปลอดภัยมากขึ้น ในการอัพเดตระบบเพิ่มระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนผ่านลายนิ้วมือ รวมถึงการใช้บัตรประชาชนยืนยันว่าเป็นบัตรจริง ในการลงทะเบียนซิม ผ่านการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกรมการปกครอง และโครงการสนับสนุนสถาบันการเงิน ใช้ข้อมูลของผู้ประกอบการโทรทัศน์เคลื่อนที่ เพื่อยืนยันความปลอดภัย ในการให้ประชาชนทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น

การส่งเสริมเนื้อหา หรือ Content ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้แก่ภาคธุรกิจ และผู้ใช้บริการ

ในวันนี้ สำนักงานกสทช.ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 เรื่องความเหมาะสมของเป้าหมายการพัฒนา และแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ที่ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนากิจการโทรคมนาคมและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และกิจการวิทยุคมนาคม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริการทรัพยากร โทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน โดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และการให้บริการเพื่อประโยชน์สังคมและสาธารณะ

และยุทธศาสตร์ที่ 6 สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนากิจการโทรคมนาคมภายใต้แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 เพื่อให้สอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 อย่างบูรณาการ จะมี 4 เรื่องหลักที่สำคัญ คือ นโยบายด้านโครงข่ายไร้สาย, นโยบายด้านโครงข่ายแบบมีสาย,ความปลอดภัยของการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล และ การส่งเสริมเนื้อหา

นายฐากร กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวก็จะนำความคิดเห็นฯ เสนอต่อในที่ประชุมคณะกรรมการโทรคมนาคม (กทค.) และนำส่ง กสทช. ให้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 จะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ และภายในสิ้นปีนี้น่าจะเห็นกระบวนการในการเริ่มต้นได้

ด้านนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นว่า กสทช.ไม่ควรตั้งเป้าความสำเร็จไปที่การหารายได้เข้ารัฐในจำนวนมาก แต่ควรจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอในต้นทุนที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นต้นทุนธุรกิจด้านโทรคมนาคมจะยิ่งสูงขึ้น ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่อยากเห็น คือ การมุ่งส่งเสริมการแข่งขันเสรีที่เท่าเทียมกัน

ส่วนเรื่องการกำกับดูแล อย่างประเทศในยุโรปจะไม่ออกกฎเกณฑ์มากำกับล่วงหน้า เพราะเป็นการจำกัดการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งภาคเอกชนอยากให้ตลาดแข่งขันกันเองก่อน เพราะเชื่อว่าการแข่งขันจะเป็นตัวกำหนดที่เหมาะสมเอง แต่หากมีปัญหา กสทช.มีอำนาจมากำกับดูแลอยู่แล้วค่อยเข้ามาแทรกแซง อีกทั้งยังเห็นว่าการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของ กทค.ถือว่ายังด้อยอยู่ ในธุรกิจโทรคมนาคม คลื่นความถี่มีความสำคัญอย่างมาก แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเลยว่าจะมีการจัดสรรคลื่นอะไรบ้าง ใครถือครองอยู่บ้าง และแต่ละคลื่นจะหมดอายุเมื่อไร

ด้านนายชัยยศ จิรบวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวท์สเปซ จำกัด ให้ความเห็นว่า อยากเห็นแผนสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กที่ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีใบอนุญาตให้รายเล็กประมาณ 30 ใบอนุญาต แต่มีผู้ประกอบการรายเล็กที่เข้ามาได้จริงประมาณ 10 ราย และน้อยกว่านั้นที่สามารถอยู่รอดได้ จะทำอย่างไรให้รายย่อยที่เข้ามาแล้วอยู่รอดได้ นอกจากนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่พัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ ปัญหา คือ ไม่สามารถเอาไอเดียไปเสนอผู้ประกอบการรายใหญ่ ทาง กทค.ในฐานะเรกกูเลเตอร์ อาจจะมีบทบาทสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย

นายโสภณ หนูรัตน์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอว่าควรมีกลไกจัดการเรื่องร้องเรียนควบคู่กันไปด้วย ขณะที่การแก้ไขเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมาของ กสทช. ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหารายบุคคล รวมถึงเห็นว่าควรกำหนดในตัวชี้วัดว่าควรสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อความเข้มแข็งของผู้บริโภค และสร้างพื้นที่ให้องค์กรผู้บริโภคสื่อสารต่อรองกับผู้ประกอบการได้โดยตรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ