(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.จับตาผลกระทบเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่แนะเอกชนบริหารความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 11, 2017 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ภาวะการเงินโลกยังมีความผันผวนสูง ซึ่งตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจะพบว่านักลงทุนมีทั้งกล้าเสี่ยงและกลัวเสี่ยงเป็นช่วงๆ แต่ช่วงนี้จะเห็นว่ามีเงินทุนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น เนื่องจากแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มมีความชัดเจน ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวเริ่มออกมาดี

ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายมีปัจจัยหลักภายนอกประเทศเป็นหลัก และมักเป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้นไม่อยากให้ผู้ประกอบการวางใจ ซึ่งการบริหารความเสี่ยงถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศ

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน ยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งจากผลการศึกษาจะพบว่าประชาชนบางกลุ่มมีหนี้สินเกินตัว เป็นหนี้เร็ว และมีเจ้าหนี้หลายราย ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นายวิรไท กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องประกอบด้วยหลายมิติ ตั้งแต่มิติแรก คือ ประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการจะต้องมีความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ และการใช้บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งมีวินัยในการวางแผนทางการเงิน มิติที่สอง คือ สถาบันการเงินจะต้องมีความรับผิดชอบในการให้บริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า

"หลายครั้งที่จะเห็นสถาบันการเงินขายของตามความต้องการของคนขายมากกว่าจะตรงกับความต้องการของลูกค้า บางครั้งไม่ได้มองความเสี่ยงแบบครบวงจร ทำให้ลูกค้าได้รับข้อเสนอทางการเงินหรือสินเชื่อที่มากเกินควร เมื่อลูกค้ามีปัญหาหนี้สิน การจะทำให้ลูกค้าออกจากวงจรหนี้สินได้นั้น มีหลายองค์ประกอบที่ ธปท.กำลังทำงานร่วมกับสถาบันต่างๆ เพื่อให้การแก้ปัญหานี้เป็นการตอบโจทย์ระยะยาวของประเทศ และครบวงจร" ผู้ว่า ธปท.กล่าว

พร้อมระบุว่า ภาคการเงินถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเปรียบเสมือนกับเป็นเส้นเลือดใหญ่ของภาคเศรษฐกิจ ซึ่งหากมองไปข้างหน้าจะเห็นว่าประเทศไทยมีความท้าทายหลายเรื่อง ทั้งการยกระดับความสามารถในการแข่งขันที่ต้องเผชิญกับความผันผวนมากขึ้น รวมทั้งความเหลื่อมล้ำที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย

ดังนั้น ภาคการเงินจึงต้องมีบทบาทสำคัญใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริการทางการเงิน และลดต้นทุนในการทำธุรกิจ ซึ่ง ธปท.ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ คือ ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินของประชาชนให้ถูกลง

2.การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงินไทยในภาวะที่การเงินมีความผันผวนสูง โดยต้องทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นคง มีเงินกองทุนในระดับที่เพียงพอ มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี และมีวัฒนธรรมในการบริหารองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และ 3.เปิดโอกาสในวงกว้างให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำลง เปิดโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ได้ตรงกับการใช้ชีวิต

"ทั้งหมดนี้ เป็นโจทย์สำคัญของภาคการเงินไทย ที่จะต้องมีส่วนช่วยในการยกระดับประเทศ เพิ่มผลิตภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมๆ กับการสร้างภูมิคุ้มกัน มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี มีผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงที่ดี และใหม่ๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดี มีความรู้ในการจัดการทางการเงิน" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ