พาณิชย์ ร่อนจม.แจงสหรัฐฯขาดดุลการค้าไทยเพียง 1.5% เหตุจากโครงสร้างศก.ไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือใช้นโยบายไม่เป็นธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 11, 2017 13:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดทำคำชี้แจงฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่ครอบคลุมหลายมิติ ทั้งทางด้านสังคม การเมือง และความมั่นคง โดยเนื้อหาสาระในคำชี้แจงฯ เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาที่ยาวนานถึง 184 ปีมีสนธิสัญญาไมตรีไทย-สหรัฐฯ เป็นหลักสำคัญของความสัมพันธ์ รวมทั้งมีเวทีหารือภายใต้ความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ (TIFA) และข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก (WTO) เป็นพื้นฐานด้านภาษีและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน

สำหรับประเด็นเรื่องการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับไทยนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงว่า มูลค่าการขาดดุลไม่ได้มีมูลค่าสูงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีสัดส่วนเพียง 1.5% ของมูลค่าการขาดดุลการค้ารวมของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การส่งออกของสหรัฐฯ มาไทย ที่ผ่านมาขยายตัวไม่สูงนัก เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย การลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ ในไทยชะลอตัว และเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกทำให้มีการนำเข้าลดลง นอกจากนี้ สินค้าไทยที่สหรัฐนำเข้ามีส่วนช่วยในพัฒนาการเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน อาทิ สินค้าขั้นกลางที่นำไปเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในสหรัฐฯ และสินค้าที่ใช้วัตถุดิบสินค้าเกษตรจากไทย รวมทั้งไทยยังได้เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้มีการจ้างงานคนในสหรัฐฯ จำนวนมากเป็นหมื่น ๆ คน ในฝ่ายสหรัฐฯ มีการลงทุนและการประกอบธุรกิจบริการในไทยจำนวนมากและหลากหลาย โดยประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกของบริษัทสหรัฐฯ หลายแห่งไปในภูมิภาคและเชื่อมโยง value-chain ของทุนสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย ดังนั้น การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ จึงเป็นไปตามความแตกต่างและเกื้อกูลกันเชิงโครงสร้างระหว่างเศรษฐกิจไทยและสหรัฐฯ และไม่ได้เกิดจากการเลือกปฏิบัติหรือใช้นโยบายที่ไม่เป็นธรรม

ในด้านนโยบายการค้า ไทยชี้แจงว่า ยึดมั่นในหลักเศรษฐกิจระบบตลาด สอดคล้องกับหลักการภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งด้านมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี และสองประเทศมีการหารือประเด็นทางการค้าการลงทุนระหว่างกันเป็นประจำภายใต้เวที TIFA ซึ่งหัวข้อหนึ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญมาตลอด คือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไทยให้ข้อมูล update มาตรการที่รัฐบาลเร่งรัดการปฏิบัติตามกฎหมายด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ เช่น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า การพยายามแก้ปัญหา backlog ของสิทธิบัตร เป็นต้น และยังมีความร่วมมือกับสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดทำแผนดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ที่เน้นด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย นอกจากเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ไทยได้เสนอความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องการคุ้มครองแรงงาน และสิทธิแรงงานด้วย

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ไทยเน้นว่า ไม่มีการใช้นโยบายที่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความสามารถในการส่งออกโดยไม่เป็นธรรม โดยธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลโดยเน้นการสร้างเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก สำหรับการปฏิรูปภายใน ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันไทยกำลังปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ เช่น การแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ สำหรับนโยบาย Thailand 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยขยายความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ด้วย ทั้งการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ มาไทยเพิ่ม และด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ มีเทคโนโลยีสูง

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ สรุปว่า การยื่นเอกสารข้อมูลและคำชี้แจงครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้เน้นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีมายาวนาน หลากหลายมิติ และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้หารือกันทางโทรศัพท์ และคาดว่าจะมีการพบปะระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายในอนาคต ก็จะยิ่งย้ำถึงศักยภาพที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ที่เป็นความสนใจร่วมกันได้อีกมากในอนาคต

อนึ่ง ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบค ชี้แจงต่อเอกสาร Federal Registerว่าด้วย Executive Order 13786 ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ที่เปิดรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับ 13 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยมีกำหนดเวลาให้ผู้สนใจยื่นข้อคิดเห็น เป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 และจะจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ(Public Hearing) ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 โดยหลังการประชุม ครม. ผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศได้หารือปรับถ้อยคำบางส่วนให้สอดคล้องกับการหารือใน ครม. และกระทรวงพาณิชย์ได้นำส่งเอกสารให้ทางฝ่ายสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้วภายในเวลาที่กำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ