พณ.ใช้ One Belt One Road ดึงนักลงทุนเข้าลงทุนใน EEC หนุนไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday May 28, 2017 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไปศึกษาและประเมินโอกาสของไทยจากโครงการเส้นทางสายเศรษฐกิจ (One Belt One Road - OBOR) ที่จีนกำลังดำเนินการว่าโอกาสและผลประโยชน์ทางการค้า การลงทุนของไทยมีอะไรบ้าง และไทยจะใช้จุดแข็งของการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนขยายการค้าและการลงทุนจาก One Belt One Road ของจีนได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกระทรวงฯ จะใช้ยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจเจรจากับประเทศคู่ค้า เพื่อให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยขณะนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปโรดโชว์ประเทศต่าง ๆ เพื่อชักจูงการลงทุนแล้ว ล่าสุดกำลังจะเดินทางไปญี่ปุ่นวันที่ 4-8 มิ.ย.60 ซึ่งไทยจะชี้แจงให้นักลงทุนเห็นว่าการมาลงทุนในอีอีซีสามารถใช้ประโยชน์จากวันเบลวันโรดได้ เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการคมขนคมขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค

“ไทยมีเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ และถนนเชื่อมโยงจีน-ลาว-ไทย ตลอดจนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกที่เชื่อมท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด-ดานังทางตะวันออกกับท่าเรือในเมียนมาร์ทางตะวันตก สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และศูนย์ซ่อมบำรุง และยังมีแผนที่จะดึงดูดอุตสาหกรรมการบินเข้ามาลงทุนใน EEC ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค" นางอภิรดี กล่าว

ทั้งนี้ ไทยยังมีแผนที่จะดึงดูดนักลงทุนจากจีนให้เข้ามาลงทุนใน EEC เพราะนโยบาย One Belt One Road ของจีนมองไทยว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน ซึ่งไทยจะย้ำให้จีนเห็นว่าการเข้ามาลงทุนในอีอีซีของไทย นักลงทุนจีนสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน เพื่อขยายโอกาสไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน รวมถึงตลาดโลกผ่านเส้นทางวันเบลวันโรดได้ โดยด้านการค้าได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ที่อยู่ประจำในประเทศที่เส้นทางวันเบลวันโรดผ่านไปศึกษาดูว่าไทยจะหาประโยชน์จากเส้นทางที่มีอยู่ทั้งหมดได้อย่างไร และวิธีการไหน เพราะตามแนวเส้นทางวันเบลวันโรดจะทำให้เกิดตลาดใหม่ เกิดเมืองใหม่ เกิดศูนย์กลางการค้าใหม่ขึ้นมารองรับการค้าขาย และเชื่อว่าจะเกิดโอกาสสำหรับการค้าขาย การส่งออกของไทยอีกมาก เมื่อประเมินได้แล้วก็ให้จัดทำแผนเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทยให้เข้าไปขยายตลาดทั้งด้านการค้า การลงทุนและการค้าบริการ

สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ เบื้องต้นประเมินว่าไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารไปยังเมืองใหม่ที่จะเกิดตามแนวเส้นทาง โดยสามารถส่งออกผ่านเส้นทางสายไหมที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ส่งสินค้าจากไทยไปเมียนมาร์ ไปอินเดีย เข้าตะวันออกกลางได้ แทนที่จะส่งออกผ่านทางทะเล และยังสามารถส่งออกไปรัสเซียจนถึงยุโรป ผ่านทางจีน โดยใช้จีนเป็นจุดกระจายสินค้าก็ได้ อีกทั้งยังพบว่าบริการด้านการก่อสร้าง การท่องเที่ยว ผู้ประกอบการไทยก็มีขีดความสามารถที่จะเข้าไปลงทุนตามเส้นทางต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ มีแผนที่จะศึกษาและหาโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการใช้ประโยชน์จาก One Belt One Road แต่ละประเทศจะต้องมีการปรับกฎเกณฑ์ กฎระเบียบด้านการค้าให้สอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งกระทรวงฯ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาดูว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ยังเป็นอุปสรรคในการทำการค้าผ่านเส้นทางมีอะไรบ้าง เพราะการจะทำให้การค้ามีความคล่องตัว กฎระเบียบ มาตรฐานต่าง ๆ ของแต่ละประเทศจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะทำให้การค้าไม่คล่องตัว เมื่อรู้แล้วว่าอะไรเป็นปัญหาก็ต้องนำเข้าสู่เวทีเจรจาหารือเพื่อแก้ไข โดยอาจจะเป็นเวทีเจรจาระดับอาเซียน-จีน หรือระดับประเทศต่อประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ