ผู้ประกอบการอสังหาฯ ประสานเสียงค้านเก็บภาษีลาภลอย มองซ้ำซ้อน-เพิ่มภาระประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 9, 2017 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท พรีเมียม บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวในงานเสวนา"โอกาสลงทุนอสังหาฯ ในเมกะโปรเจคภาครัฐ"ว่า นโยบายการจัดเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Gain Tax) เป็นการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน และสร้างภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมือในแต่ละครั้งอยู่ในระดับที่สูงถึง 7-8% ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อต้องจ่ายอยู่แล้ว

อีกทั้งส่วนต่างหรือผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับยังต้องนำมาคิดคำนวณภาษีรายได้บุคคลธรรมหรือภาษีนิติบุคคลประจำปีอยู่แล้ว ดังนั้น ภาครัฐไม่ควรนำระบบการจัดเก็บภาษีลาภลอยมาใช้ แต่ควรนำส่วนต่างหรือผลประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นไปคิดรวมกับราคาประเมินที่สะท้อนมูลค่าเพิ่มจากอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณการคมนาคมและสาธารณูปโภคที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ

นายสัมมา คีตสิน กรรมการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การเก็บภาษีลาภลอยเป็นการสร้างภาระที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอนาคต และเป็นการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อน โดยมองว่าไม่มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะนำการจัดเก็บภาษีลาภลอยมาใช้ เพราะปัจจุบันการเสียภาษีรายได้นิติบุคคลและภาษีรายได้บุคคลธรรมดามีการเปิดเผยข้อมูลรายได้และกำไร หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการทำงาน หรือจากสินทรัพย์ที่ถือครอง ซึ่งเป็นส่วนต่างที่จะต้องมาคำนวณภาษีในทุกๆ ปีอยู่แล้ว

อีกทั้งการใช้ระยะทางที่กำหนดโดยห่างจากสถานีรถไฟฟ้า 2.5 กิโลเมตร, ห่างจากทางพิเศษ 2.5 กิโลเมตร, ห่างจากสนามบิน 5 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือ 5 กิโลเมตร เป็นสิ่งที่มองว่าไม่เหมาะสมและการเป็นปัญหาที่จะทำให้เกิดความคลุมเครือขึ้นได้ เพราะการจัดเก็บภาษีเบกการวัดระยะทางไม่ได้บอกถึงมูลค่าที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ทำให้มองว่าในเบื้องต้นหากภาครัฐจะจัดเก็บภาษีลาภลอยควรใช้วิธีการคิดคำนวณที่ไม่เกิดความคลุมเครือ แต่มองว่าภาษีดังกล่าวไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้

น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีลาภลอยอาจจะมีความวุ่นวายในเรื่องการประเมินมูลค่าส่วนต่างของสินทรัพย์ที่ถูกจัดเก็บภาษี เพราะไม่มีตัววัดส่วนเกินที่ต้องจัดเก็บอย่างแน่นอนและเป็นรูปธรรม อีกทั้งมองว่าปัจจุบันการซื้ออสังหาริมทรัพย์มีการจัดเก็บภาษีมากอยู่แล้ว เมื่อมีการจัดเก็บภาษีลาภลอยเพิ่มเข้ามาอีกจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนเกิดขึ้น และทำให้ผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ต้องคิดอย่างรอบคอบมากขึ้น เพราะมีโอกาสที่ภาระค่าใช้จ่ายภาษีในอนาคตจะเพิ่มขึ้นได้

"มองว่าอาจจะยังไม่มีความจำเป็นมากนักที่ภาครัฐจะจัดเก็บภาษีลาภลอย ซึ่งหากจะจัดเก็บภาษีลาภลอยจริงๆ ภาครัฐควรศึกษาแนวทางการประเมินมูลค่าส่วนต่างที่สามารถคิดคำนวณได้ เพื่อป้องกันความคลุมเครือที่มีโอกาสเกิดขึ้น"น.ส.เกษรา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ