นายกฯ ระบุแผนยุทธศาสตร์ชาติ-แผนฯ 12 กำหนดกรอบเป้าหมายพัฒนาประเทศสู่เส้นชัยตามโรดแมพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 3, 2017 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดการประชุม "ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย" ในการประชุมประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง"สานพลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาสู่อนาคตประเทศไทย" ว่า วันนี้รัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนประเทศเพื่อเดินไปสู่เส้นชัยตามโรดแมพที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนต้องร่วมมือกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 ก่อนส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสานต่อการทำงาน

สำหรับการประชุมประจำปี 2560 ของ สศช.มีกรอบสาระสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งนอกจากจะเป็นเวทีที่มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยังให้ความสำคัญกับการระดมความเห็นร่วมกัน เพื่อช่วยให้แนวทางและกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และประเด็นการพัฒนาสำคัญในมิติต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ แผนฯ 12 ประกอบด้วย 10 ยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาประเทศ สู่เป้าหมาย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เช่น การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน บริหารจัดการในภาครัฐ ป้องกันทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมาภิบาลในสังคมไทย เป็นต้น

"การทำให้ประเทศเดินหน้า ต้องมีแผนรองรับ ซึ่งแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 เป็นการวางรากฐานประเทศ ในช่วงปี 2560-2564 หากเดินตามแผนตลอดทุกๆช่วง 5 ปี จนครบ 20 ปีก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่วนตัวเชื่อมั่นว่าคนไทยมีขีดความสามารถ ซึ่งรวมพลังกันก็จะฝันฝ่าปัญหาวิกฤติประเทศไทยครั้งนี้ไปได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมยืนยัน ยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี ไม่ได้ผูกมัด หรือบังคับใคร แต่วางกรอบการทำงานกว้างๆ ไว้ให้รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาดำเนินการต่อเนื่อง ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามนโนบายของรัฐบาลนั้นๆ เพราะการดำเนินการทุกอย่างต้องมีเป้าหมาย โดยเน้นให้ความสำคัญกับประชาชนฐานราก ซึ่งรับาลชุดนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือต้องการเห็นไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งกายภาพ จิตใจ ความกระตือรือร้น และเพิ่มศักยภาพของคน รวมทั้งทำให้เกิดความสามัคคีปรองดอง มีที่ยืนอย่างสมศักดิ์ศรีทุกคน

"วันนี้เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะยังเป็นน้ำที่ไม่ผสมกลมกลืน ยังมีความแตกแยกกันอยู่ และมัวแต่วุ่นวายกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง อย่างกรณีสื่อที่นำเสนอข่าว เรื่องว่าผมจะลงเลือกตั้งหรือไม่ลง ใครอยากจะพูดก็พูดไป เพราะเรื่องนี้ผมจะเป็นคนตัดสินใจ และขอไม่พูดเรื่องนี้อีก"นายกรัฐมนตรี กล่าว

"ล่าสุดที่แต่งกลอนก็มีกวีออกมาวิจารณ์ว่าแต่งไม่ถูกตามหลักโคลงกลอน ก็เกิดการทะเลาะกันของบรรดากวี หรือต้องให้ผมงดพูดสักหนึ่งเดือน เพราะรู้สึกว่าพูดอะไรก็เหมือนเปิดศึกไปหมด แต่หากต่อว่าผมมากๆ ก็รู้สึกน้อยใจเป็นเหมือนกัน" นายกรัฐมนตรี ระบุ

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ทุกคนต้องช่วยกันปฏิรูป และขออย่ามองว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องเลวร้าย ซึ่งตนเองก็ไม่เข้าใจเหตุใดนักการเมืองต้องกังวลจนไปยื่นฟ้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ หรือเป็นเพราะไม่มีงานทำกัน

ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนงานในหลายด้านมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เช่น คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อมาแก้ปัญหา รวมทั้งการใช้อำนาจมาตรา 44 ที่จะใช้เพื่อปลดล็อคปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ซึ่งทุกคนต้องคิดว่าหากในอนาคตไม่มีมาตรา 44 แล้วจะทำอย่างไร ดังนั้นการทำสิ่งไหนในอนาคตต้องทำอย่างรอบคอบ ซึ่งวันนี้ที่ใช้อำนาจมาตรา 44 เพราะเร่งดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว เพื่อดูแลประชาชนไม่ให้เดือดร้อน ซึ่งการทำงานก็จะต้องมีกฎหมายหลักในการบังคับใช้ และมองว่าบางกฎหมายหากไม่ได้ออกในรัฐบาลนี้ ก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้อีกเลย

ภายหลังกล่าวปาฐกถาพิเศษ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการ เรื่อง นวัตกรรม หัวใจการขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต ซึ่ง สศช. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษารวม 13 แห่งในการนำผลงานความสำเร็จของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆมาขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ