ครม.เห็นชอบ"โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ"สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 4, 2017 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการ “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน" ที่เสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 22,895.36 ล้านบาท

วัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและชุมชนด้วยการนำหลักการ ทฤษฎี และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานไว้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน และเพื่อให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนมีส่วนร่วมแบบประชารัฐอย่างยั่งยืน

วิธีการดำเนินงาน จะต้องเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที มีประโยชน์ต่อชุมชน และมีความยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมในลักษณะของการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าภายใต้กรอบโครงการ ทั้งหมดมี 9 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช, ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์, ด้านการจัดการศัตรูพืช,ด้านฟาร์มชุมชน, ด้านการผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร, ด้านปศุสัตว์, ด้านประมง, ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน และด้านการเกษตรอื่นๆ ที่ให้เป็นการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด

โครงการนี้จะต้องเป็นโครงการที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เองและใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง หรือเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการเดิม โดยสมาชิกที่จะมาขอดำเนินโครงการจะต้องรวมตัวไม่น้อยกว่า 10 คน และจำนวนผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการต้องไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องเป็นโครงการที่เน้นการจ้างแรงงานเกษตรกรในชุมชนเป็นหลัก โดยไม่น้อยกว่า 50% ของวงเงินงบประมาณ ยกเว้นกรณีจำเป็นเหลือ 30% ได้แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโครงการระดับอำเภอ ระยะเวลาการดำเนินการกำหนดให้ต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งภายในเดือนกรกฎาคม และที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะต้องเบิกจ่ายภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ โดยที่ค่าใช้จ่ายจะใช้งบฉุกเฉินปี 2560 จำนวน 22,895.36 ล้านบาท ประกอบด้วย งบให้ชุมชนละ 2.5 ล้านบาท จำนวน 9,101 ชุมชน หรือ 22,752.50 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอีก 142.86 ล้านบาท

"ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรรอการเก็บเกี่ยวในช่วงสิงหาคม-กันยายน เพราะฉะนั้นโครงการนี้จะช่วยได้มากระหว่างรอการเก็บเกี่ยวผลผลิต"นายณัฐพร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ