(เพิ่มเติม) นายกฯ ประชุมบอร์ด EEC มอบมหาดไทย-เกษตรฯ หาแนวทางพัฒนาด้านเกษตรกรรมควบคู่เศรษฐกิจในพื้นที่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 6, 2017 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) ว่า วันนี้มีเรื่องที่ต้องพิจารณาและขยายเวลาที่จะต้องดำเนินการหลายเรื่องเพื่อให้เกิดความก้าวหน้า โดยเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเร่งงานด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงแผนอื่นร่วมด้วย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการสร้างการรับรู้และการสร้างความเข้าใจ จึงได้กำหนดกรอบนโยบายในการทำ EEC ให้คณะกรรมการที่มีอยู่ซึ่งเป็นตัวแทนของทุกกระทรวงจัดทำแผนควบคู่กันในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและเกษตรกรในพื้นที่ EEC ควบคู่กันไปด้วย โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ปรับการทำเกษตรในพื้นที่ EEC ไปด้วย และเสนอมายังตนเองเพื่อพิจารณาว่าจะผู้ปลูกในพื้นที่สามารถทำอย่างไรได้บ้าง

โดยให้เน้นแนวทางเกษตรแนวใหม่ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชที่เราต้องการ เช่น ข้าว ซึ่งหากมองในข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่สามารถส่งข้าวได้ 10 กว่าล้านตัน แต่มูลค่าที่กลับมาไม่ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากนัก จึงอยากให้ใช้พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่นำร่องในการนำไปสู่การปรับพื้นที่อื่น ๆ ปรับพื้นที่อื่นเหมาะสมกับสภาพอากาศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการ EEC ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต จึงขอฝากเป็น mind map ไว้ในใจว่าจะต้องวางแผนควบคู่การพัฒนาของภาคอื่นด้วย โดยต้องเร่งสร้างการรับรู้ว่าเรื่องนี้เป็นโครงการนำร่องในภาคตะวันออกที่ต้องให้เกิดขึ้นก่อนและต้องมีความพร้อมในการพัฒนาเพื่อจะเป็นต้นแบบให้ภาคอื่น ซึ่งหลายภาคก็มีความต้องการที่จะยกระดับความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวต้องคำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นตนเองจึงได้ย้ำในที่ประชุมถึงการดูแลพื้นที่ทำการเกษตร และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเดินหน้าพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมกันนี้จะต้องมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟทางคู่ ที่จะเชื่อมโยงท่าอากาศยาน และท่าเรือ ทั้งหมดเพื่อใช้สำหรับการขนส่งคนและสินค้า นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟทางคู่ ระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือมายังภาคตะวันออก และเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินหน้าประเทศต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศอื่นด้วย ในลักษณะ Win-Win หรือต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ โดยไทยจะต้องไม่เสียเปรียบ และต้องเกิดประโยชน์ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศที่ต้องเข้ามาเสริมการดำเนินโครงการของไทย รัฐบาลจะทำให้เชื่อมโยงกับการลงทุนในประเทศ ในการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ฝากทำความเข้าใจกับประชาชนในภาคอื่นๆ เหตุผลการเลือกดำเนินการในภาคตะวันออกก่อน เพราะมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ในภาคอื่นๆ ก็จะเป็นโครงการในระยะต่อไปที่รัฐบาลต้องผลักดันให้ตรงกับศักยภาพของแต่ละภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ