นายกฯชี้ปัญหาราคายางต้องแก้ที่การปลูกในพื้นที่เหมาะสม-ลดต้นทุนการผลิต-หนุนใช้ในประเทศ วอนอย่ากดดันรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 8, 2017 09:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ในช่วงหนึ่งว่า สิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของราคายาง คือการปลูกยางพารา 3 ล้านกว่าไร่ ในพื้นที่บุกรุก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจจะทำให้ราคายางตก เพราะเรามียางเป็นจำนวนมาก อาจจะมากเกินไป การส่งออก ราคาก็ตก เพราะตลาดกลางก็มียางเป็นจำนวนมาก ต้องไปแข่งขันกันในตลาดโลก ตลาดกลาง เหล่านี้เราจะมากดดันกันภายในประเทศ คงทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นในประเทศเราจะทำอย่างไร สาเหตุหนึ่งที่มีการปลูกมากเกินไป ในพืชเกษตรหลายชนิดทำให้เกิดปัญหาราคาตกทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ยาง ที่ปลูกในพื้นที่บุกรุก 3 ล้านกว่าไร่ ถ้าเราทำให้พื้นที่บุกรุกเหล่านั้น ไม่มีการกรีดยางอีกต่อไป ราคายางขึ้นแน่นอน เพราะยางจะลดลง วันนี้เราก็เห็นใจพี่น้องเกษตรกรที่เดือดร้อน

ทั้งนี้ การกระทำใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายในการที่จะเปลี่ยนผ่านในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นการที่ออกมาเรียกร้องในขณะนี้ แล้วมีการระดมกัน ปลุกกันว่าจะออกมากดดันรัฐบาล ผมไม่อยากให้เกิดกรณีเช่นนั้น เพราะถ้าหากว่ามีการกดดันรัฐบาลมากจนเกินไป รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายคือ การห้ามกรีดยางในพื้นที่บุกรุกทั้งสิ้น ใน 3 ล้านกว่าไร่ แล้วพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่ยากจนจะทำยังไง

เพราะฉะนั้น ขอให้ผู้นำเกษตรกร สมาคมยางต่าง ๆ ให้พิจารณาตรงนี้ด้วย เพราะว่าท่านทำให้คนเหล่านั้นเดือดร้อนไปด้วย ไม่ใช่โยนภาระทั้งหมดมาให้กับรัฐบาล ท่านก็รู้อยู่แล้วว่า ปัญหาของเราคือยาง เรามีจำนวนมากเกินไป การส่งเสริมการผลิตยางในประเทศนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เพราะที่ผ่านมามุ่งไปแต่ส่วนการขายไปต่างประเทศ แล้วก็ไม่ได้เพิ่มในเรื่องของการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น

วันนี้รัฐบาลพยายามส่งเสริม ไม่ให้เป็นการพึงพาการส่งออกมากจนเกินไปเหมือนในอดีต จนควบคุมไม่ได้ คราวนี้ในทุกกระทรวงสำรวจ จัดทำโครงการใช้ยางในทุกกิจกรรม ในภาพรวมของประเทศ คือการใช้ยางในส่วนราชการนั้น ไม่ใช่แต่เพียงว่า เอายางมา ซื้อยางมาจากเกษตรกร แล้วมาใช้ได้เลย ไม่ได้ ต้องมีการแปรรูป มีการนำสู่อุตสาหกรรม ถึงจะไปทำยางสนามกีฬา เสร็จแล้วก็ต้องไปทำการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ถึงจะใช้ได้

การทำถนนหนทางก็เช่นเดียวกัน วันนี้ใช้ได้ประมาณ 5-15% ในการที่จะใช้ผสมลงไป ซึ่งต้นทุนในการทำถนนก็สูงขึ้น แล้วจะทำยังไง เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ทั้งราคายาง ทั้งราคาที่ต้องเอาไปแปรรูป ทั้งราคาที่นำไปสู่การผลิต แล้วนำมาสู่การใช้งาน ตอนนี้รัฐบาลแก้ทุกอันนะครับ เราถึงจะได้นำมากำหนดเป็นความต้องการให้ได้ว่าตลาดภายในเราต้องการเท่าไร เพราะฉะนั้น เราควรจะกำหนดปริมาณการผลิตบ้างหรือไม่ ปลูกที่ไหน เมื่อไร ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดยางของทั่วโลก ไม่ใช่ออกมาพร้อม ๆ กันทั้งหมด บางที่ก็ไม่ได้ หลายผลิตผลการเกษตร วันนี้ผมเห็นมีการเรียกร้องในเรื่องของสับปะรด เข้ามาอีก สับปะรดก็มีการบุกรุกเข้าไปหลายแสนไร่ ในปัจจุบัน ราคาสับปะรดดีขึ้น ก็บุกรุกป่าไปปลูกสับปะรดเข้าไปอีก แล้วราคาตกก็ร้องเรียนกับรัฐบาล สิ่งเหล่านี้แก้ได้อย่างเดียว คือการแก้ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งแน่นอนพี่น้องประชาชนต้องเดือดร้อน เพราะฉะนั้นต้องขอให้ผู้นำเกษตรกรต่าง ๆ ได้เข้าใจตรงนี้ ถ้าท่านไม่ช่วยเราตรงนั้น เราก็ไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร การที่จะเอางบประมาณไปอุดหนุน ไปอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ผิดกลไกของ WTO อ้อย อะไรต่าง ๆ เราต้องมาแก้ทั้งหมดวันนี้ ท่านทราบหรือไม่ จะมีการฟ้องร้องอะไรต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเราก็คลี่คลายสถานการณ์ไปได้แล้ว ในเรื่องของเงินอุดหนุน ในเรื่องอ้อยก็ไปหาวิธีการที่เหมาะสม ไม่ผิดกติกา พันธะสัญญาโลก

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ถ้าเกษตรกรยังมุ่งอยากได้แต่ราคาที่สูง ๆ แล้วให้รัฐบาล หาวิธีการแก้ให้ได้ ยังไงก็แก้ไม่ได้ สิ่งเดียวที่แก้ได้คือ ปลูกในพื้นที่ ๆ เหมาะสม ปลูกในพื้นที่ที่ไม่บุกรุก แล้วลดต้นทุนการผลิตให้ได้ ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกพืชหลาย ๆ ชนิด แล้ววันหน้าเราก็จะมีการปลูกพืชในพื้นที่ ๆ เหมาะสม เช่นตรงนี้ควรจะปลูกข้าว ตรงนี้ควรจะทำไร่นาสวนผสม ตรงนี้ควรจะทำสวนผลไม้ ตรงนี้ควรจะเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในระหว่างนี้จะต้องเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยน การให้ความรู้ การเตรียมการ หลายท่านอาจจะทดลองดูว่าเราเคยปลูก 20 ไร่ ทำนา หรือทำอะไรก็แล้วแต่ เราลองลดพื้นที่เหล่านั้นไปว่าจะทำนาไปเป็นอย่างอื่น ลอง 5 ไร่ได้หรือไม่ เหลือ 15 ไร่ ตรงไหนที่ทำข้าว แล้วขายไม่ได้คุณภาพ ราคาตก คุณภาพไม่ดี ก็ไปปลูกอย่างอื่นที่จะทดแทนได้ แล้วก็ปลูกข้าวไว้รับประทานอย่างเดียว เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกันคิด ซึ่งเราคงต้องมีการกำหนดปริมาณการผลิต ว่าปลูกที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร มากน้อยเท่าไร แล้วเราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมและความองค์ความรู้เพิ่มเติม ความรู้ปราชญ์ชาวบ้านก็มี ความรู้ของเกษตรกร Smart Farmer รุ่นใหม่ก็มี แล้วที่เราแพร่ไปตามสื่อ ตามสิ่งพิมพ์ ก็มากมายไปหมด ทุกคนต้องช่วยกันดูด้วย ไม่เช่นนั้นรัฐบาลแก้ไม่ได้ ปัญหาหมักหมมมาหลายอย่างด้วยกัน เราอาจจะต้องสนับสนุนภาคเอกชน ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมกันนะครับ เช่น ในกรณีให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และเครือข่ายวิชาการ ต่าง ๆ มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำด้วย

วันนี้เรื่องยาง หมอนที่ผลิตจากยางพาราแท้ 100% และผ้าหุ้มหมอนไร้ฝุ่นจากศูนย์วิจัยศิริราช และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาฯ ได้เริ่มส่งไปขายในประเทศจีน ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จำนวน 100,000 ใบ ตั้งเป้ายอดขายในอนาคตว่าจะสามารถสร้างมูลค่า ราว 5,000 ล้านบาทใน 3 ปี นอกจากนี้ จีนยังมีการสั่งซื้อยางไทยไปสต็อกไว้ เพื่อนำไปผลิตล้อรถยนต์จำนวนมากอีกด้วย อันนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน กับทุกประเทศในโลกนี้ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาสมดุลเหล่านี้ไว้ให้ได้

สรุปได้ว่าหลักการสำคัญ ในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ที่ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า มีประเด็นเชื่อมโยงกัน เกี่ยวพันกัน ในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1)การปลูกมากเกินไป ทำให้ Demand น้อยกว่า Supply คือ ความต้องการน้อยกว่าการผลิตที่มีจำนวนมาก

(2) การปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม ดินไม่ดี น้ำไม่พอ ร้อนเกินไป ภัยแล้ง ภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำมาก น้ำน้อย ทำให้ต้องมีการลงทุนหลายครั้ง รัฐบาลต้องเยียวยา ต้องมีการประกันภัย เหล่านี้ทำให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ ตรงนี้จะทำอย่างไรกับพื้นที่ตรงนี้

(3) การปลูกในพื้นที่บุกรุก ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ป่า พื้นที่อุทยาน ฯลฯ ซึ่งมีส่วนทำให้ผลผลิตนั้นมีมากจนเกินไป จากในส่วนที่ถูกกฎหมายก็ทำให้ฝ่ายโน้นเดือดร้อนไปด้วย ฉะนั้นต้องหารือกัน สมาคมเกษตรกร อย่ารวมกันเพื่อร้องเรียนอย่างเดียว ไปดูกันเองด้วย ไม่รู้ตั้งมาแล้วช่วยอะไรได้บ้าง เพราะฉะนั้นตั้งมาแล้วก็ต้องช่วยกัน อย่าไปเข้าใจอะไรกันผิด ๆ ต่อต้านรัฐบาล ทุกเรื่องไป

(4) การลงทุน ค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ส่วนต่างกับราคาขายนั้นไม่มากนัก ขาดทุน กำไรนิดเดียว ไม่พอ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา ค่าจ้างเครื่องจักร - รถไถ ค่าแรง และค่าเช่านา ค่าเช่าที่ดิน เหล่านี้เป็นต้น วันนี้ต้องไปทบทวนใหม่ทั้งหมด

(5)​ การตลาด ประกอบด้วยปัญหาต่าง ๆ อาทิ เกษตรกรขาดความรู้ด้านการตลาด สหกรณ์บางแห่งขาดประสิทธิภาพ เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลาง ขายแต่วัตถุดิบ ไม่แปรรูป ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม,การขายต่างประเทศก็มีการซื้อขายล่วงหน้า,พันธะสัญญาต่างประเทศและโลก ได้มีการห้ามการสนับสนุนราคาพืชผลทางการเกษตรขณะนี้ เราก็ต้องแก้ปัญหาเรื่องอ้อยอีก ตามที่ผมกล่าวไปแล้วเรื่องการใช้เงิน CESS มีการประท้วงจากต่างประเทศ การเจรจาทางการค้าที่จำเป็น ต้องมีการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เช่น ของอาเซียน FTA เป็นสิ่งที่เราต้องปฏิบัติ คลังสำรองพืชผลเกษตรทุกประเทศเขาก็มีการตั้งคลังสำรองเอาไว้ เมื่อทุกประเทศมีมาก ราคาก็ตก เช่น การสต็อกข้าว ไทยเคยมีข้าวในสต็อกกว่า 18 ล้านตันและความร่วมมือต่างประเทศผ่านกลไกต่าง ๆ ร่วมมือเจรจา ซึ่งแต่ละประเทศนั้นก็พยายามจะสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของประเทศตนเองให้มากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ