สศก.ประเมินแนวโน้มสถานการณ์สินค้าเกษตร H2/60 ดีกว่า H1/60 พร้อมคาดปริมาณส่งออกยางใกล้เคียงปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 17, 2017 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า แนวโน้มสถานการณ์สินค้า เกษตรในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยประเมินจากปัจจัยต่างๆ คือ ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคเกษตรน่าจะ เติบโตได้ในกรอบคาดการณ์ตั้งแต่ต้นปีที่ 2.5-3.5% ค่ากลางคือ 3%

นอกจากนี้ ปัจจัยสภาพดินฟ้าอากาศปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว ปริมาณฝนกระจายตัวกว่าปีที่แล้ว ไม่มีปัญหาภัยแล้งหรือเอลนิญโญ่แบบ ที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีก่อน ทำให้พืชไร่ เช่น ข้าว ผลไม้ภาคใต้ ไม้ผล ไม้ยืนต้น เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมันผลผลิตออกดี แต่ ในส่วนของราคายังต้องพิจารณาและติดตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับแต่ละสินค้าอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาในส่วนของสินค้าสำคัญ อย่าง ยางพารา ปี 60 ไทยมีพื้นที่ปลูกยาง 22.95 ล้านไร่มากเป็นอันดับ 2 ของ โลกรองจากอินโดนีเซีย ด้านประมาณการผลผลิตยางไทยอยู่ที่ 4.3-4.4 ล้านตันสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมา คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ด้านการส่งออก คาดว่าปี 60 ไทยจะยังส่งออกยางได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ที่ 3.6-3.7 ล้านตัน เนื่องจากมี มาตรการความร่วมมือในการจำกัดปริมาณการส่งออกยางพาราของ 3 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย) เพื่อยกระดับราคาส่ง ออกให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกยางพาราของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 59 สรุปได้ดังนี้

          ประเทศปลายทาง  2559 (ม.ค.-พ.ค.)      2560 (ม.ค.-พ.ค.)        เพิ่มขึ้น/ลดลง
                          ปริมาณ   มูลค่า          ปริมาณ   มูลค่า          ปริมาณ      มูลค่า
                จีน         0.69  32.36           0.71  52.03           1.99%    +60.79
             มาเลเซีย       0.16   7.87           0.15  11.69          -6.82%    +48.55
             สหภาพยุโรป     0.13   6.48           0.12   9.16         -12.65%    +41.42
               ญี่ปุ่น         0.10   4.64           0.09   7.80          -4.33%    +67.87
             สหรัฐอเมริกา    0.08   3.83           0.08   6.30          -1.66%    +64.49
                อื่นๆ        0.23  10.73           0.22  16.54          -5.22%    +54.12
                รวม        1.39  65.92           1.36 103.52          -2.26%    +57.05
          ที่มา: กรมศุลกากร (กรกฎาคม 2560)                   ปริมาณ: ล้านตัน, มูลค่า:พันล้านบาท

"มูลค่าส่งออกยางพาราสูงขึ้นจากปีก่อนเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามหลายสำนักวิจัยของ ธนาคารต่างๆ คาดการณ์ว่าแนวโน้มครึ่งปีหลังราคาน้ำมันน่าจะเท่ากับหรือสูงกว่าระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลทำให้เราก็ยัง เชื่อว่าน่าจะยังเป็นผลดีต่อราคายาง"น.ส.จริยา กล่าว

น.ส.จริยา กล่าวว่า ปัจจัยที่สองคือปริมาณผลผลิตยางในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งขณะนี้เราคาดการณ์ผลผลิตในประเทศที่จะ ออกมามีประมาณ 58-60% ความต้องการใช้ยางในประเทศคู่ค้ายังมีอยู่มาก เนื่องจากนโยบายของทุกประเทศที่เป็นประเทศ อุตสาหกรรมพัฒนาแล้วคือต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจในประเทศตัวเอง เศรษฐกิจของโลกโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเติบ โตต่อไป จึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมที่ต้องใช้สมองประดิษฐ์ต้องพัฒนาต่อไปไม่หยุด ซึ่งยางพาราก็มีส่วนคำญต่อ อุตสาหกรรมเหล่านี้

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามตัวเลขสต็อกยางในตลาดโลก เพราะไทยยังพึ่งพาการส่งออกยางถึง 85% ขณะที่ 15% คือ ใช้ในประเทศซึ่งภาครัฐก็มีนโยบายส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยใหม่ที่เพิ่งเข้ามาคือเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 ปีถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนผล ผลิตยางของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ผลิตรายใหม่ เช่น จีน เวียดนาม ลาว ช่วงแรกนี้ยังเชื่อว่าปริมาณและคุณภาพอาจจะยังสู้ไทยไม่ ได้ แต่ระหว่างทางก็ควรสนับสนุนให้เกษตรกรเร่งปรับปรุงคุณภาพยางและหันมาเน้นการแปรรูปสินค้าที่เป็นปลายน้ำมากขึ้น

ด้านดัชนีรายได้เกษตรชาวสวนยางรายเดือนของประเทศไทยในช่วงปีเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 182.78 มากกว่าช่วงเดียว กันของปี 57-59 ที่อยู่ที่ 179.38, 163.86 และ 154.06 ตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นจากปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวและออกสู่ตลาด และราคาที่ขายได้ และเมื่อดูดัชนีรายได้เกษตรกรชาวสวนยางช่วงครึ่งปีแรกปี 60 พบว่าดีกว่าช่วงเดียวกันของปี 59 เช่นกัน

"เรายังเชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 ดัชนีรายได้เกษตรกรชาวสวนยางก็น่าจะยังเป็นบวกตาม GDP ภาค เกษตร"น.ส.จริยา กล่าว

ดัชนีรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง :

          ปี           ม.ค.         ก.พ.          มี.ค.          เม.ย.          พ.ค.        มิ.ย.
         2559       147.43        96.75         38.84         35.61         103.35      154.06
         2560       294.12       213.51         65.12         49.36         121.18      182.78

ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สศก.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ