กนง.ย้ำใช้นโยบายผ่อนปรนแม้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP แต่ยังห่วงเงินเฟ้อต่ำ-คุณภาพสินเชื่อด้อยลง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 19, 2017 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.60 ซึ่งมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% โดยเห็นพ้องความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ แม้จะปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้เพิ่มเป็น 3.5% ตามการส่งออกฟื้นตัวดี แต่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่ากรอบ และคุณภาพสินเชื่อด้อยลง อีกทั้งกังวลว่าสถานการณ์แรงงานต่างด้าวอาจกระทบธุรกิจและความสามารถการชำระหนี้ของ SMEs สั่งเกาะติดแนวโน้ม NPL

รายงาน กนง.ระบุว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 60 มีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนและดีกว่าประมาณการเดิม โดยได้ปรับขึ้นประมาณการจีดีพีปีนี้เป็น 3.5% จากเดิมที่ 3.4% หลังจากไตรมาส 1/60 ดีกว่าคาด ประกอบกับ การส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ช่วยชดเชยการลงทุนภาครัฐบางส่วนที่ล่าช้าบ้าง ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม

สำหรับในปี 61 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.7% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากทั้งการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะชะลอลงบ้างในระยะต่อไป ส่วนหนึ่งจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในจีนหลังเร่งตัวไปในช่วงก่อน อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้า แนวโน้มการส่งออกยางไปจีนอาจชะลอลงตามการลดการสะสมสต็อกยางของจีนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง และราคายางพาราเริ่มลดลง และ ปัญหาเชิงโครงสร้างในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีการขยายกำลังการผลิตของประเทศในภูมิภาคมากขึ้น

กนง.มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการขยายตัวต่อเนื่อง โดยความไม่แน่นอนของประมาณการเศรษฐกิจปรับลดลง แต่ความเสี่ยงยังโน้มไปด้านต่ำใกล้เคียงเดิม จากปัจจัยต่างประเทศโดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า ประกอบกับปัจจัยในประเทศที่กำลังซื้อยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในช่วง 5 เดือนแรกของปี 60 ต่ำกว่าคาด ประกอบกับแนวโน้มราคาอาหารสดและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จึงปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 60 และ 61 มาที่เฉลี่ย 0.8% และ 1.6% ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 60 และ 61 ลดลงเช่นกันมาที่เฉลี่ย 0.6% และ 0.9% ตามลำดับ เมื่อมองไปข้างหน้า

แม้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงจากประมาณการเดิม แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 60 ต่อเนื่องไปถึงปี 61 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ตามแรงกดดันด้านลบจากปัจจัยด้านอุปทานที่ทยอยหมดไป เช่น ผลของฐานที่สูงของราคาอาหารสดในปีที่แล้วที่จะทยอยลดลง ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ทยอยปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะหากอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวได้ชัดเจนต่อเนื่อง

สำหรับความเสี่ยงต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อโน้มไปด้านสูงจากนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดแรงงานตึงตัว และทำให้ต้นทุนค่าจ้างของภาคธุรกิจปรับสูงขึ้นด้วย โดยผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐด้วย ทั้งนี้ กรรมการบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคการผลิต ก่อสร้าง และบริการ อาจได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะที่กรรมการบางส่วนคาดว่าแรงกดดันด้านลบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีมากขึ้นในระยะข้างหน้า อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) หรือบทบาทของการค้าผ่าน E-commerce อาจมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าคาด

การขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำ โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มกระจายตัวในหลายธุรกิจมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังค่อนข้างกระจุกตัว อาทิ ในภาคอสังหาริมทรัพย์และที่พักแรม ทั้งนี้ภาคธุรกิจยังระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ต่อเนื่อง ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิต อนึ่ง จำนวนคำขอสินเชื่อและอัตราการอนุมัติโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการใช้วงเงินสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มวงเงินขนาดใหญ่

ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมที่เพิ่มขึ้นในทุกประเภท โดยเฉพาะ SMEs ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย เช่น การขาดความสามารถในการแข่งขัน กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง จึงสามารถรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงได้

"คณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่าแม้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวดีขึ้น แต่คุณภาพสินเชื่อยังด้อยลงโดยเฉพาะ SMEs ส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ที่ด้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของ NPL และปัจจัยที่อาจส่งผลต่อ NPL รายกลุ่มอย่างใกล้ชิด และเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สามารถสะท้อนแนวโน้มของ NPL ได้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ กรรมการบางส่วนเห็นว่าสถานการณ์แรงงานต่างด้าวอาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และกรรมการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ (debt restructuring) ของ SMEs อาจได้รับความสำคัญน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งผลให้ NPL ของ SMEs ปรับลดลงได้ช้า" รายงาน กนง.ระบุ

ด้านภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อน และยังมีแรงส่งเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งนี้ในช่วงหลังจากการประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมา ธนาคารกลางของประเทศส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม ยกเว้นธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.00-1.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย.60 และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าเฟดจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้เดิมและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังโน้มไปทางด้านต่ำ โดยเฉพาะจากความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนโดยรวมลดลง โดยความเสี่ยงในด้านสูงปรับลดลงจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่โอกาสของการดำเนินการได้เร็วมีน้อยลง และความเสี่ยงด้านต่ำลดลงจากกระแสการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเบาบางลงภายหลังพรรคการเมืองที่มีนโยบายสนับสนุนการรวมกลุ่มของสหภาพยุโรปชนะการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและอิตาลี

ส่วนภาวะตลาดการเงิน พบว่าความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกโดยรวมปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลต่อปัญหาการเมืองในสหรัฐฯ ประกอบกับตลาดมองว่าการปรับลดระดับการผ่อนคลายของนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศ G3 จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ดีขึ้นได้ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้น และมีเงินทุนไหลเข้าประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรมากกว่าที่เคยคาด สำหรับเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปรับแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินในภูมิภาคในบางจังหวะจากแรงขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐของผู้ส่งออกไทยที่มีต่อเนื่อง ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) จึงปรับแข็งค่าขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน

"ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเงินทุนจะยังไหลเข้าตลาดการเงินในประเทศในภูมิภาครวมถึงไทย ตามการปรับนโยบายการเงินของประเทศ G3 ที่มีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับสินทรัพย์ของไทยมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี คณะกรรมการฯ จึงให้ติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นต่อไป และเห็นว่าภาคเอกชนควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศที่มีอยู่" รายงาน กนง.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ