รัฐบาลเตรียมตั้ง National Cyber Committee ในส.ค.นี้วางยุทธศาสตร์รักษาความปลอดภัยโลกไซเบอร์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 4, 2017 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายในเดือน ส.ค.นี้ รัฐบาลเตรียมจัดตั้ง National Cyber Committee โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี 2 รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และรัฐมนตรีที่เกี่ยวกข้อง เพื่อร่วมกันวางยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐบาล และมีการกำหนดความชัดเจนของภารกิจหลักและภารกิจรอง มี Action Plan และ Operation Plan รวมทั้งการออกกฎหมายเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าว หรือกฎหมายไซเบอร์ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้

อีกทั้งมีการพัฒนาบุคคลากร เครื่องมือ องค์กรในการที่จะมีหน่วยงานกลางเป็นผู้ปฏิบัติการ โดยจะมีทั้งแผนงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งการมีงบประมาณที่ชัดเจนด้วย เพื่อจะให้มีการพัฒนาต่อไปเป็น Full Digital ครอบคลุมทุกสาขาใช้เทคโนโลยีอย่างสมบุรณ์แบบ

"ไฮไลท์ของแผนยุทธศาสตร์ คือความร่วมมือที่เป็นองค์รวม จากที่แยกเป็นเรื่องภัยต่อความมั่นคง สถาบันการเงิน ภัยส่วนบุคคล ให้มีความร่วมมือกัน และกำหนดเป้าหมายแผนงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ที่จะมีความร่วมมือทั้งหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมปกป้องทำให้การปกป้องให้เกิดความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นมากขึ้น "พล.อ.อ.ประจิน กล่าวในงานสัมมนาวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560 ในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ Cyber Security"

นอกจากนั้น ประเทศไทยจะมีความร่วมมือกับในกลุ่มประเทศอาเซียน , กลุ่มอาเซียน + 3 (มีจีน ญี่ปุ่น เกาหลี) และ อาเซียนกับอินเดีย

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงในเรื่องการถูกบุกรุกในโลกไซเบอร์ และที่น่าเป็นห่วงมากคือความเสี่ยงภัยที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการมีหน่วยงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อดูแลปัญหาและประสานงานกับต่างประเทศให้มีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่ายป้องกันภัยไซเบอร์ระดับภูมิภาค และสามารถรับมือกับภัยดังกล่าวที่นับวันจะยิ่งมีความซับซ้อนและทันสมัยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จัดอันดับดัชนีความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (GCI) ประจำปี 2560 ให้ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาด้าน Cybersecurity อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาทุกภาคส่วนไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเพื่อความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งหมายถึงความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศ

ด้านพ.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศ อีกทั้งการระบาดของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) ที่รักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาติประจำปีนี้ สำนักงานกสทช.ในฐานะผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้เห็นความสำคัญและเลือกประเด็นการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยได้รับเกียรติจากนายริชาร์ด เอ.คลาร์ค อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 4 สมัย และผู้พัฒนายุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กลยุทธ์แรกให้กับสหรัฐฯ และเป็นเจ้าของงานเขียนชื่อ"Cyber War" และ "Warning" มาแลกเปลี่ยนความรู้ในงานสัมมนาครั้งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ