นบข.มองผลผลิตข้าวปี 60/61 มีโอกาสรับผลกระทบน้ำท่วมเหลือ 26-27 ล้านตัน จากเดิมคาด 29 ล้านตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 4, 2017 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) คาดการณ์ผลผลิตข้าว ปีการผลิต 60/61 ลดลงเหลือประมาณ 26-27 ล้านตันผลจากน้ำท่วม พร้อมเห็นชอบช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 3 มาตรการ คาดใช้งบประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ส่วนการส่งออกข้าวคาดว่าจะอยู่ที่ 10-11 ล้านตัน

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมนบข. ครั้งที่ 4/2560 คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวปีการผลิต 60/61 ประมาณ 26-27 ล้านตัน ลดลงจากเดิมที่ประมาณไว้ 29 ล้านตัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลเสียหายประมาณ 1.5-2 ล้านตัน

พร้อมมีมติเห็นชอบช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 60/61 ด้านการตลาดใน 3 มาตรการ คาดใช้งบประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุม นบข.เมื่อวันที่ 22 มี.ค.60 มีมติเห็นชอบโครงการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส./กรมส่งเสริมสหกรณ์) เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค.60-31 ก.ย.61 โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

2.โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี (ธ.ก.ส.)

3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (กรมการค้าภายใน) เป้าหมาย ปริมาณ 8 ล้านตัน ระยะเวลารับซื้อ 1 พ.ย.60-30 ก.ย.61 ระยะเวลาเก็บสต็อก 1 พ.ย.60-31 มี.ค.61 วงเงินชดเชย 940 ล้านบาท

ขณะที่สถานการณ์ข้าวโลก ไทยยังเป็นอันดับ 1 ของผู้ส่งออกข้าว โดยคาดว่าปีนี้จะส่งออกข้าวได้ 10-11 ล้านตัน สำหรับการระบายข้าวในสต็อกในขณะนี้เหลืออยู่ไม่มากนัก ส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังการประชุม นบข.ว่า เป็นที่เรื่องน่ายินดีที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามปริมาณการผลิต และความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินเกษตรครบวงจร มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไปเป็นชนิดอื่น หรือการปลูกพืชผสมผสาน ทำให้ลดการปลูกข้าวลงได้ จึงส่งผลต่อราคาดีขึ้น แต่หากยังทำการปลูกข้าวแบบเดิม ที่ไม่คำนึงถึงหลักการตลาดก็จะทำให้ราคาต่ำลง

ทั้งนี้ มาตรการลดพื้นที่ปลูกข้าว แม้รัฐบาลไม่สามารถบังคับใครได้ แต่มีความเป็นห่วงต่อเกษตรกรที่ปลูกข้าวได้รับความเสียหายแบบซ้ำซาก ควรหันไปปลูกเชิงเดี่ยว แต่สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทางรัฐบาลเห็นใจและจะเร่งรัดทุกมาตรการให้ความช่วยเหลือกับทุกๆกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ข้าวโลก พบว่า หลายประเทศก็ประสบภัยน้ำท่วมเช่นกัน จึงมีการเก็บสต็อกข้าวในแต่ละประเทศสูงขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับสถานการณ์

ส่วนการระบายข้าวค้างสต็อก ที่มีปัญหาในส่วนของศาลปกครองมีคำสั่งพิทักษ์ไว้ภายหลังเอกชนบางรายยื่นศาลสั่งระงับนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีประมาณ 5 แสนตัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่มาก แต่ก็ยอมรับว่าเป็นภาระด้านการจัดเก็บของรัฐบาล จึงต้องดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ