คลัง จับมือ ธปท.-ดีอี ศึกษาเกณฑ์ KYC หนุนทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยตรง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 7, 2017 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดื์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถา"ตลาดทุนไทยจะเป็นยังไงในยุคดิจิทัล"ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ศึกษาแนวทางการให้บริการทางการเงินผ่านระบบการรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC) ของสถาบันการเงิน โดยระบบดังกล่าวไม่จำเป็นต้องให้ลูกค้าเดินทางไปยังสาขา แต่สามารถให้ข้อมูลระหว่างลูกค้าและสถาบันการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยตรง ทั้งการฝาก ถอน และการขอสินเชื่อต่างๆ คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ในเวลาอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของเงื่อนไขในการทำ KYC ว่าจะต้องมีความเข้มงวดในระดับใด โดยจะมีทั้งระดับ 3-4 ที่จะมีการระบุความชัดเจน ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม โดยยืนยันก่อนจะนำออกมาใช้นั้น คณะทำงานจะต้องทดสอบระบบเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาการล้วงข้อมูล และทำให้ประชาชนเกิดความเสียหายแน่นอน โดยต้องการเห็นระบบดังกล่าวเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด และจะต้องเชื่อมโยงกับตลาดเงินตลาดทุน เพื่อให้เกิดเป็นระบบเดียวกัน

"สำนักงานป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการเพิ่มเติมรายละเอียดกฎหมาย KYC/DCC เกี่ยวกับการให้ลูกค้ายืนยันตัวตนกับสถาบันการเงินได้โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสาขาของธนาคารคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ในเวลาอันใกล้นี้" นายอภิศักดิ์ กล่าว

รมว.คลัง ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี กลายเป็นสิ่งสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น โซเซียลมีเดีย ที่เข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกิจในสังคมยุคปัจจุบัน อย่างธุรกิจโฆษณา ขณะที่ภาคการเงินเองก็มีการปรับตัวสูง โดยจะเห็นได้จากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น โดยการปรับตัวของธนาคารและอุตสาหกรรมต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยีจะทำให้ประชาชน หรือผู้รับบริการได้รับประโยชน์

ทั้งนี้ ในเรื่องของ ฟินเทค ที่มีการพูดถึงกันอย่างมากในระยะหลังนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ซึ่งมีแนวคิดใหม่ๆ และอินโนเวชั่นใหม่ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น Blockchain, Crowdfunding, Promptpay และ Electronic trading เป็นต้น ซึ่งหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง มองว่าความจำเป็นที่จะต้องมีธนาคาร หรือการมีตัวกลางทางการเงิน หรือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อาจจะต้องลดความสำคัญลงไป โดยสิ่งที่ตัวกลางต้องดำเนินการ คือ ต้องทำตัวเองให้เป็นประโยชน์ หรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยี หรือการหาบริการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

"ทำอย่างไรที่จะให้ทุกวงการ ทุกหน่วยงาน เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลง และในแง่กฎหมายก็เช่นเดียวกัน โดยอยากจะฝากไว้ในทุกวงการให้มีการพัฒนาตัวเอง มองไปข้างหน้า แล้วเตรียมการดูแลตัวเอง อย่าให้เรื่องเทคโนโลยีที่เป็นผลดีกับประชาชน ทำให้องค์กรของตัวเองเกิดปัญหา แต่ให้พยายามที่จะพัฒนาไปกับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้" รมว.คลัง กล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการดำเนินการมีด้วยกันหลายเรื่อง เช่น การผลักดัน National e-Payment ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีระบบรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับการใช้งานเทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย Promptpay ,เงินอิเล็กทรอนิกส (e-Money),การชำระภาษี ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด คาดว่าภายในสิ้นปีนี้การรับและจ่ายเงินของภาครัฐจะเป็นรูปแบบดังกล่าวได้ทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ