CIMBT เล็งปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็น 3.5% จากเดิม 3.2% หลังมองส่งออกโต 4-5% บาทแข็งกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 8, 2017 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะละ ผู้อำนวยการอาบุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จากเดิมที่ 3.2% หลังการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดการณ์ไว้แต่แรก ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีกว่าที่ประมาณการณ์ไว้

ธนาคารได้ปรับประมาณการณ์ตัวเลขการส่งออกปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นเติบโต 4-5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.1% หลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านการส่งออกเติบโตไปแล้วถึง 7% ซึ่งเป็นการเติบโตมาจากฐานที่ต่ำ รวมทั้งราคาน้ำมันมีผลต่อราคายางพาราและสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการส่งออกที่เติบโตโตได้ถึง 10% ซึ่งหากประเทศไทยจะส่งออกให้เติบโตเท่าเพื่อนบ้านได้จะต้องส่งออกเกี่ยวกับชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

ด้านการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงปลายไตรมาส 3/60 หรือไตรมาส 4/60 จากไตรมาส 1/60 ที่ติดลบไป 1.1% และคาดว่าไตรมาส 2/60 จะยังคงติดลบต่อเนื่อง โดยการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบนั้นมาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ นโยบายการเงินของสหรัฐฯและจีนยังมีความไม่ไม่นอน กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ อุปทานส่วนเกินล้นตลาด โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ และความต่อเนื่องของนโยบายของภาครัฐ เป็นต้น

"เรายังคงต้องติดตาม GDP ไตรมาส 2/60 ของสภาพัฒน์ฯ ที่จะประกาศในวันที่ 21 ส.ค.นี้ โดยไตรมาส 1/60 GDP เติบโตไปแล้ว 3.3% แต่ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเรายังถือว่าโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น โดยปีนี้มองว่า GDP จะโตได้มากกว่า 3.2% เพราะได้แรงหนุนจากการส่งออก และการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว เพราะการลงทุนภาครัฐที่ชะลอไปช่วงก่อนหน้านี้"นายอมรเทพ กล่าว

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทธนาคารได้ปรับประมาณการใหม่ โดยมองค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งสิ้นปีนี้มองว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ 35.50 บาท/ดอลลาร์ โดยก่อนเดือน ก.ย.นี้อาจเห็นค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 32.80 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากจะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งถือเป็นรอบการประชุมที่มีประเด็นสำคัญมาพิจารณา เช่น การปรับลดงบดุล และ การพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในปี 61 ซึ่งหากประเด็นดังกล่าวมีความชัดเจนมากขึ้นมองว่าหลังจากเดือน ก.ย.จะเห็นค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าได้เล็กน้อย แต่ในภาพรวมยังถือว่าแข็งค่าอยู่ ซึ่งเป็นการแข็งค่าจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ