รมว.คลัง ยันทยอยเก็บภาษีน้ำหวาน 6 ปีถึงเพดาน, ยังไม่สรุปมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 25, 2017 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า โครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.60 นั้น คาดว่าลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ววันนี้ ซึ่งหลักการของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ที่เปลี่ยนแปลงนั้น เป็นการรวบรวมภาษีสรรพสามิตเดิมที่มีอยู่หลายฉบับมารวมไว้ในฉบับเดียว โดยมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการคิดภาษีจากราคาหน้าโรงงานไปเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"เมื่อเปลี่ยน ก็จะมีราคาเพิ่มขึ้นจากกำไรที่เพิ่มขึ้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ เราจะประกาศอัตราใหม่ เช่น เดิมเก็บ 20% อาจจะประกาศเหลือ 15% เพื่อให้ภาษีสรรพสามิตที่จะต้องเสียอยู่เท่าเดิม ดังนั้นคนที่มี profit margin ในระดับปกติ ก็จะได้เท่าเดิม ยกเว้นคนที่ไปตั้ง profit margin สูงๆ หรือบางคนที่ under declare เพื่อให้เสียภาษีน้อย อันนี้ก็จะมีผลกระทบบ้าง แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเท่าเดิม" รมว.คลังระบุ

สำหรับโครงสร้างอัตราภาษีในสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก คือ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูง (ภาษีน้ำหวาน) ซึ่งจากเดิมที่เครื่องดื่มบางชนิดไม่เคยต้องเสียภาษีเลย แต่รอบใหม่นี้จะต้องเสียภาษี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเครื่องดื่มทุกชนิด นอกจากนี้ภาษีเครื่องดื่ม โดยอัตราใหม่จะมีการเก็บภาษีจาก 2 ส่วนคือ ฐานราคา และระดับความหวานหรือปริมาณน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบจากเดิมที่จะคิดจากฐานราคาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยในส่วนนี้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของกระทรวงสาธารณะสุข และกลุ่ม NGO ที่ต้องการดูแลสุขภาพของประชาชน

อย่างไรก็ดี อัตราภาษีใหม่ที่เรียกเก็บจากเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงนั้น อัตราภาษีจะค่อยๆ ปรับขึ้นไปจนถึงอัตราที่ต้องการจะเห็นในอีก 6 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้มีเวลาถึง 6 ปีที่ผู้ประกอบการจะได้ปรับตัวในการปรับส่วนผสมของเครื่องดื่มโดยลดปริมาณน้ำตาลลง

"จากเดิมเก็บเฉพาะตามราคา แต่แบบใหม่จะมี 2 ส่วน คือ ตามราคา และตามความหวาน ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขอยากจะเห็น เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย จึงอยากให้เก็บภาษีน้ำตาล...พอโครงสร้างเหล่านี้ออกมา อุตสาหกรรมก็สามารถปรับตัวได้ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็จะสามารถปรับสินค้าให้เข้าสู่โหมดที่มีการใช้น้ำตาลน้อยลง และตอบโจทย์ด้านสาธารณสุขได้" รมว.คลังระบุ

นายอภิศักดิ์ ยังกล่าวถึงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากสิ่งที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำเสนอมานั้นถือว่าเกินกว่าที่ฐานะการคลังจะรับได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องการจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในชนบทมากกว่าแหล่งท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ ซึ่งในจุดนี้จะต้องมาพิจารณารายละเอียดเรื่องของใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหรือชุมชนในท้องถิ่นจะออกให้แก่นักท่องเที่ยวว่าจะมีแนวทางอย่างไรด้วย

"มาตรการภาษีท่องเที่ยวยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะที่เขาขอมา มันเกินฐานะการคลังจะรับได้ เราเองอยากส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่ชนบท แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ท้องถิ่นไม่สามารถออกใบเสร็จ ตอนนี้กำลังคุยและจะแก้ปัญหา ยังไม่สรุปเรื่องวงเงิน กำลังคุยกัน" รมว.คลังระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ