จุฬาฯเสนอผลวิจัยโซลาร์รูฟท็อปเสรีหนุนรับซื้อไฟส่วนเกินแบบ Net Billing ดึงค่าไฟเพิ่มไม่เกิน 3 สต./หน่วย เข้ากบง.พรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 4, 2017 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวโสภิตสุดา ทองโสภิต นักวิจัย สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ผลการศึกษาโครงการศึกษาวิเคราะห์ โครงการนำร่องการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟเสรี เห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนให้บ้านเรือน อาคารและโรงงาน มีทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ทั้งเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง และหากมีไฟฟ้าเหลือก็ควรอนุญาตให้มีไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบจำหน่ายได้ โดยราคารับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ มองว่าจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า มีความคุ้มทุน และระยะคืนทุนอยู่ระหว่าง 7-10 ปี ขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนทั่วไปจะต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3 สตางค์/หน่วย โดยคาดว่ากระทรวงพลังงานจะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ย.)

"วันนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยผลการศึกษาอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี เพราะเป็นเรื่องนโยบายที่ภาครัฐจะมีการพิจารณาซึ่งจะมีการประชุม กบง.ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเบื้องต้นเสนอใน 3 รูปแบบ โดยมีเกณฑ์พิจารณาที่ระดับเท่ากับราคาขายส่ง ,ต่ำกว่าราคาขายส่ง และสูงกว่าราคาขายส่ง"นางสาวโสภิตสุดา กล่าว

นางสาวโสภิตสุดา กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่คณะวิจัยฯเสนอให้มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเองใช้เองในรูปแบบ Net Billing ที่จะมีการหักลบ ค่าไฟฟ้าภายในหรือข้ามรอบบิล ซึ่งไฟฟ้าส่วนไหลย้อนเข้ากริดจะมีค่าไฟไม่เท่ากับค่าไฟขายปลีก ซึ่งจะทำให้มีอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด แตกต่างจากระบบ Net Metering ซึ่งเป็นการหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าภายในหรือข้ามรอบบิล ซึ่งไฟฟ้าส่วนไหลย้อนเข้ากริดจะมีมูลค่าเท่ากับค่าไฟขายปลีก

นอกจากนี้ ควรกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนแบ่งตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า ได้แก่ บ้านที่อยู่อาศัย, กิจการขนาดเล็ก ,กิจการขนาดกลาง และกิจการขนาดใหญ่ รวมถึงกำหนดระยะเวลาส่งเสริม ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าไหลย้อน ตามอายุของระบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คือ 25 ปี ตลอดจนปรับเปลี่ยนอัตรารับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนสำหรับโครงการใหม่ที่จะเข้าระบบก่อนปรับค่าไฟฟ้าฐาน

สำหรับข้อเสนอกำหนดเป้าหมายรายปีของโซลาร์รูฟท็อป แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีแรก 6,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 79 หรือราว 300 เมกะวัตต์/ปี จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า 0.7-1.4 สตางค์/หน่วย ,กรณีที่สอง 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 79 หรือ 600 เมกะวัตต์/ปี กระทบต่อค่าไฟฟ้า 1.4-2.8 สตางค์/หน่วย และกรณีที่สาม 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 63 หรือ 1,000 เมกะวัตต์/ปี กระทบต่อค่าไฟฟ้า 0.8-1.4 สตางค์/หน่วย ซึ่งโดยรวมทั้งสามกรณีจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3 สตางค์/หน่วย

เมื่อมีไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบจำหน่าย จะเกิดผลกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าใน 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรงดันไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้าสูญเสีย และจะเกิดผลกระทบต่อระบบผลิตและระบบส่ง คือ เรื่องความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ด้วยระดับการส่งเสริมในปัจจุบันยังมีผลกระทบไม่มากนัก อย่างไรก็ดี หากมีปริมาณไฟฟ้าไหลย้อนจากโซลาร์รูฟท็อปในระบบสูงขึ้น อาจส่งผลต่อคุณภาพไฟฟ้าในอนาคตได้

ผลกระทบเรื่องแรงดันและกำลังไฟฟ้าสูญเสียในระบบจำหน่าย สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับปรุงระเบียบการเชื่อมต่อ (Grid code) ให้สามารถรองรับปริมาณโซลาร์รูฟท็อปได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ในส่วนผลกระทบต่อระบบผลิตและระบบส่งนั้น จะช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเวลากลางวันได้ ก็จะช่วยชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าหลัก แต่หากมีปริมาณมากเกินไป อาจจะส่งผลให้เกิดสภาวะ Duck curve ซึ่งจะทำให้การเดินเครื่องโรงไฟฟ้ามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพิ่ม หรือมีต้นทุนในการปรับปรุงโรงไฟฟ้า และอาจทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเลื่อนไปเป็นช่วงเวลากลางคืน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่บริหารจัดการได้ทางเทคนิคและการกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม

นางสาวโสภิตสุดา กล่าวอีกว่า เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าเองใช้เอง อาจเกิดผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย แต่เชื่อว่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากสามารถชดเชยรายได้ที่ขาดไปผ่านการปรับค่าไฟฟ้าฐานในรอบต่อไปได้ สำหรับผลกระทบต่อประชาชนยังไม่สูงมากนักหากส่งเสริมในระดับ 3,000-12,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ เกิดจากส่วนต่างระหว่างราคารับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนและราคาที่หลีกเลี่ยงได้จากการซื้อไฟฟ้าขายส่งโดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย

ด้านนายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลแสงอาทิตย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรให้การส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปเสรีประมาณ 15,000 เมกะวัตต์ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า แบ่งเป็น บ้านอยู่อาศัย 5,000 เมกะวัตต์ และอาคารโรงงาน 10,000 เมกะวัตต์ โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนสำหรับบ้านอยู่อาศัย ควรใกล้เคียงราคาขายปลีกไฟฟ้าที่ราว 4 บาท/หน่วย และการรับซื้อไฟฟ้าไหลย้อนสำหรับอาคารธุรกิจขนาดใหญ่ควรใกล้เคียงราคาขายส่งไฟฟ้าที่ราว 3 บาท/หน่วย

ทั้งนี้ รัฐบาลควรมุ่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นเป็น 60% ภายในปี 79 จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% และลดสัดส่วนการสนับสนุนสำหรับโซลาร์ฟาร์ม เหลือ 40% ภายในปี 79 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนสูงถึง 90%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ