ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะผู้ส่งออกไปกัมพูชาปรับกลยุทธ์รับโครงสร้างนำเข้าใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 21, 2017 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะผู้ส่งออกสินค้าไปยังกัมพูชาควรเร่งปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับโครงสร้างการนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดในระยะข้างหน้า ขณะที่ภาวะการส่งออกของไทยไปกัมพูชายังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าขั้นกลางที่สอดคล้องกับอุปสงค์กัมพูชา หากไม่นับสินค้าที่มีความผันผวนทางราคาอย่างทองคำและน้ำมันสำเร็จรูป แต่การเติบโตในอัตราที่เร่งขึ้นจากในช่วง 5 ปีก่อนหน้า (2550-2554) สวนทางกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลง

ขณะที่สินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนอย่างเคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบของยานยนต์ แม้จะยังคงสามารถเติบโตได้ดีแต่กลับชะลอลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการเข้ามาแข่งขันในกลุ่มสินค้าดังกล่าวของจีนและเวียดนาม ซึ่งมีสินค้าส่งออกบางรายการของไทยได้รับผลกระทบบ้างแล้ว อาทิ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ยางยานพาหนะ และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นผลจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน ทำให้กัมพูชาหันไปนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต หรือนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคบางประเภทจากจีนและเวียดนามทดแทนสินค้าจากไทย

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ไทยควรปรับปรุงโครงสร้างส่งออกสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของกัมพูชา โดยควรเน้นสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในการผลิต ขณะเดียวกันก็ไม่ควรละเลยสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไทยเป็นเจ้าตลาดอยู่เดิม เพื่อไม่ให้สินค้าจากจีนและเวียดนามเข้ามาตีตลาดได้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

สำหรับสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุน ในระยะข้างหน้ากัมพูชาน่าจะมีการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าขั้นกลางที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตอย่างสินค้าปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์) และผลิตภัณฑ์พลาสติก ประกอบกับการครองส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทย อันเป็นผลจากการที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกัมพูชา น่าจะส่งผลให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวได้อีกมาก

นอกจากนี้สินค้าประเภทกระดาษเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นที่ต้องการอย่างมากในกัมพูชา จึงเป็นโอกาสของไทยในการเข้าไปแบ่งส่วนแบ่งตลาดจากจีนซึ่งเป็นผู้ครองตลาดในปัจจุบันได้ ขณะที่สินค้าทุนอย่างเครื่องจักรกลและส่วนประกอบน่าจะเป็นหนึ่งในสินค้าที่ไทยสามารถพัฒนาศักยภาพการส่งออกได้ ทั้งเครื่องจักรขนาดเล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมขนาดย่อมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในกัมพูชา และสินค้าประเภทลวดและสายเคเบิลเพื่อการโทรคมนาคม (HS 8544) และหม้อแปลงไฟฟ้า (HS 8504) สำหรับใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่กัมพูชามีแนวโน้มนำเข้าอีกมาก

ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค กัมพูชายังคงไม่มีความสามารถในการผลิตสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังขาดการพัฒนาในอุตสาหกรรมอาหารจึงต้องพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากไทยหลักๆ ได้แก่ เครื่องดื่ม (โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป (โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) แม้ปัจจุบันสินค้าไทยจะมีจุดแข็งและเป็นที่จดจำของผู้บริโภคชาวกัมพูชา อีกทั้งการเข้ามาแข่งขันของสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากประเทศคู่แข่งยังมีไม่มากนัก แต่ไทยควรพัฒนาสินค้าอาหารแปรรูปส่งออกอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อเป็นการขยายตลาด และไม่ควรมองข้ามศักยภาพของจีนและเวียดนามที่อาจกระทบต่อความสามารถในการส่งออกสินค้าไทยในอนาคต

ขณะที่สินค้าอุปโภคของไทยก็ยังมีโอกาสเติบโตได้ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลบางประเภท อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลอนามัยในช่องปาก ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและดับกลิ่นตัว ซึ่งกัมพูชายังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ภาคการผลิตของกัมพูชาที่มีแนวโน้มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของกัมพูชามีความเติบโตและเพิ่มกำลังซื้อให้คนในประเทศ นำมาซึ่งความต้องการสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้นวัตกรรมในอนาคต ซึ่งนับว่าเป็นสินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ไทยไม่ควรมองข้าม

ทั้งนี้คาดว่า การส่งออกของไทยไปยังกัมพูชายังคงมีแนวโน้มที่ดี แม้อาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากการเข้ามาแข่งขันของจีนและเวียดนามในฐานะประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ และมีความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมหลัก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสินค้าส่งออกหลักของไทยอย่างสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดกัมพูชา ประกอบกับการส่งออกสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนที่มีแนวโน้มเติบโตที่ดี จึงน่าจะส่งผลให้ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปยังกัมพูชาได้ในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกไทยไปกัมพูชาในปี 2560 น่าจะเติบโตต่อเนื่อง 6.5% หรือมีมูลค่า 4,977 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยจะยังคงรักษาความสามารถในการส่งออกไปยังกัมพูชาเป็นอันดับหนึ่งเอาไว้ได้ อย่างไรก็ดี ไทยอาจต้องพิจารณาศึกษาการเปลี่ยนแปลงตลาดกัมพูชาอย่างรอบด้าน และใช้ความใกล้ชิดจากการค้าขายกันมานานเพื่อปรับปรุงสินค้าส่งออกที่ตอบสนองความต้องการของกัมพูชาได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้อาจใช้โอกาสจากความตกลง GMS CBTA เพื่อใช้เส้นทาง R1 ในการช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าผ่านชายแดนอันจะเป็นการช่วยรักษาความสามารถในการส่งออกของไทยไปยังกัมพูชาได้อีกทางหนึ่ง

"การส่งออกของไทยไปยังกัมพูชาเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2559) โดยหากไม่นับรวมถึงการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและทองคำที่มีความผันผวนทางราคา พบว่า ขยายตัวเฉลี่ยที่ 12.6% ต่อปี ทว่าเป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการขยายตัวดังกล่าวในระยะ 5 ปีหลังที่ผ่านมา (ปี 2555-2559) กลับอยู่ที่ 2.2% ต่อปี ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 18.6% ในช่วง 5 ปี ก่อนหน้า (ปี 2550-2554) สะท้อนทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของกัมพูชาและให้ภาพความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในกัมพูชาที่ปรับตัวลดลงอย่างน่าเป็นห่วง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนำเข้าของกัมพูชา จากเดิมที่พึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะสินค้าพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ในระยะที่ผ่านมาโครงสร้างการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาเริ่มเปลี่ยนไปเน้นการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนเป็นหลัก สะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมของกัมพูชาที่ภาคการผลิตและการลงทุนทวีบทบาทขึ้น นับตั้งแต่กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศ (FDI) หลั่งไหลสู่กัมพูชา ประกอบกับการมีจุดเด่นจากค่าแรงงานที่ต่ำ ส่งผลให้กัมพูชาอยู่ในฐานะฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพื่อส่งออก หลักๆ คือ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า

นอกจากนี้ พัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ ยังส่งผลให้กัมพูชาเริ่มมีความสามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศได้เอง อาทิ ปูนซีเมนต์ อาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้แนวโน้มการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทยอยลดลง และจากทิศทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่มีแนวโน้มเติบโตล้อไปกับการลงทุนและการส่งออกได้นำไปสู่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางอย่างผ้าผืน เส้นด้าย หนังสัตว์มากขึ้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 36.7% ของการนำเข้าทั้งหมด รวมไปถึงการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและสินค้าที่สนับสนุนภาคการผลิตอื่นๆ อย่างผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์กระดาษ

นอกจากนี้ การขยายตัวของภาคการลงทุนประกอบกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่สอดรับกัน ยิ่งก่อให้เกิดความต้องการสินค้าประเภททุนอย่างเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลไฟฟ้า โดยเฉพาะลวดและสายเคเบิลเพื่อการโทรคมนาคม และหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เมื่อพิจารณาสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของกัมพูชาในปี 2559 พบว่า กลุ่มสินค้าขั้นกลางและสินค้าประเภททุน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 57.7% ของการนำเข้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากในปี 2550 ที่มีสัดส่วน 27.4% ขณะที่กลุ่มสินค้าพลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภค กลับมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 8.9% และ 3.3% จากเดิมที่มีการนำเข้าที่ 20.0% และ 10.7% ในปี 2550 ตามลำดับ

"แนวโน้มโครงสร้างนำเข้าสินค้าของกัมพูชาที่เปลี่ยนไปดังกล่าว น่าจะส่งผลให้เกิดความท้าทายต่อการส่งออกของไทยในฐานะแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของกัมพูชา เนื่องจากสินค้าหลักที่ไทยส่งไปยังกัมพูชาส่วนใหญ่ยังเน้นหนักไปที่สินค้าพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค (เครื่องดื่มและน้ำตาลทราย) และสินค้าอื่นๆ อย่างกลุ่มรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แม้ว่าจะมีแนวโน้มส่งออกสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบได้ดี แต่ประเทศคู่แข่งทางการค้าอื่นๆ สามารถเร่งขยายตลาดส่งออกมาที่กัมพูชา จากศักยภาพการส่งออกสินค้าที่สอดคล้องและตอบสนองโครงสร้างทางธุรกิจและการนำเข้าที่เปลี่ยนไปของกัมพูชาได้ดีกว่าไทยในปัจจุบัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ