ETDA คาดการณ์มูลค่า E-Commerce ไทยปี 60 แตะ 2.8 พันลบ. โตเกือบ 10%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 27, 2017 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) ระบุถึงผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 60 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 59 โดยจะมีมูลค่ารวมประมาณ 2,812,592.03 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 9.86% จาก 2,560,103.36 ล้านบาทจากปี 59

ทั้งนี้การคาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซในปี 60 โดยแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรม จะพบว่าอันดับของอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่มจะไม่แตกต่างจากปี 59 โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง ที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ จำนวน 869,618.40 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.96% อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 658,131.15 ล้านบาท คิดเป็น 26.45% อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 417,207.07 ล้านบาท คิดเป็น 16.77% อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสาร มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 404,208.00 ล้านบาท คิดเป็น 16.25% อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการขนส่ง มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 104,904.28 ล้านบาท คิดเป็น 4.22% อันดับที่ 6 อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 19,716.04 ล้านบาท คิดเป็น 0.79% อันดับที่ 7 อุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 11,280.33 ล้านบาท คิดเป็น 0.45% และอันดับที่ 8 อุตสาหกรรมการประกันภัย มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซ 2,729.65 ล้านบาท คิดเป็น 0.11%

ทั้งนี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเกือบทุกอุตสาหกรรมมีทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุน 4 ประการ ได้แก่ 1.การสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในประเทศ โดยมุ่งสนับสนุนและเร่งพัฒนาผู้ประกอบการในระดับฐานราก ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้สามารถค้าขายออนไลน์ได้จริง รวมถึงพัฒนาผู้ประกอบการรายเดิมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

2.การที่ผู้ประกอบการหันมาเพิ่มช่องทางการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เนื่องจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงต้องสร้างช่องทางการขายอีคอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ และขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งปัจจุบัน ช่องทางการขายออนไลน์มีความหลากหลายขึ้นจึงช่วยผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

3.การเติบโตด้านตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีแนวโน้มและศักยภาพในการเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอนาคต เพราะพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงและมีการใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของไทยปี 2560 พบว่าจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ต ในปี 2560 เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2559 และกิจกรรมการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่านอีคอมเมิร์ซมีมากขึ้น จนติดอันดับที่ 5 จากประเภทกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มยอมรับว่าอีคอมเมิร์ซมีข้อได้เปรียบมากมาย ทั้งเป็นเรื่องง่าย ประหยัดเวลาและการเดินทาง ซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น

และ 4.การที่นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น อาทิ นักลงทุนด้าน e-Marketplace, e-Logistics, e-Payment ชื่อดังจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง จึงช่วยสร้างบรรยากาศในการแข่งขันและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง และยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย

สำหรับสินค้าและบริการที่คนไทยนิยมซื้อออนไลน์มากที่สุด ประกอบด้วย อันดับแรก สินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย รองลงมาคือสินค้าด้านสุภาพและความงาม, อุปกรณ์ไอที, เครื่องใช้ภายในบ้าน, บริการสั่งอาหารออนไลน์, บริการเกี่ยวกับการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นต้น แต่หากพิจารณาในเรื่องความถี่ในการซื้อสินค้าและใช้บริการ กลับพบว่าในระยะเวลา 3 เดือน บริการด้านการเงินและการลงทุนเป็นประเภทบริการที่คนไทยเลือกใช้ซ้ำมากที่สุดที่ 4.8 ครั้ง รองลงมาคือบริการดาวน์โหลด 4 ครั้ง สินค้าบริการด้านความบันเทิงและด้านการเดินทางและท่องเที่ยวเท่ากันที่ 2.5 ครั้ง ตามด้วยสินค้ากลุ่มแฟชั่นและบริการสั่งอาหาร เท่ากันที่ 2.4 ครั้ง

ผลสำรวจยังระบุอีกว่าสินค้าและบริการในเกือบทุกกลุ่มที่คนไทยนิยมซื้อทางออนไลน์มากที่สุดจะอยู่ในช่วงราคาไม่เกิน 1,000 บาท ยกเว้นบริการด้านการเงินและการลงทุนที่ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อที่มูลค่ามากกว่า 10,000 บาท โดยช่องทางการชำระเงินที่มีการใช้มากที่สุดคือบัตรเครดิต รองลงมาคือ การโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร, การโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม, การโอนเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคาร แต่ก็ยังมีความนิยมในการชำระเงินแบบออฟไลน์อยู่มาก โดย ส่วนใหญ่ 69.1% ระบุว่าการชำระเงินแบบออฟไลน์สะดวกและสบายใจมากกว่าแบบออนไลน์, ขณะที่ 51.4% ไม่มั่นใจในความปลอดภัย ส่วนอีก 27.1% ชี้ว่าขั้นตอนการชำระเงินออนไลน์ยุ่งยาก, อีก 22.9% กลัวไม่มีหลักฐานยืนยันการทำรายการ, ในขณะที่ 11.8% ไม่รู้จักหรือไม่รู้วิธีชำระเงินออนไลน์ และ 5.1% ไม่รู้ว่าใช้กับสินค้าหรือบริการใดได้บ้าง

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความเห็นของกลุ่มประชากรที่เป็นผู้ประกอบการทั้งสิ้น 592,996 ราย และมีการแบ่งมูลค่าตามลักษณะทางธุรกิจ ได้แก่ B2B, B2C และ B2G อีกทั้งยังแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรมได้ 8 กลุ่ม ดังนี้ 1.อุตสาหกรรมการผลิต 2.อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง 3.อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก 4.อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 5.อุตสาหกรรมการขนส่ง 6.อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 7.อุตสาหกรรมการบริการด้านอื่น ๆ และ 8.อุตสาหกรรมการประกันภัย

นอกจากนี้ เอ็ตด้าได้สำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตจากประชาชนรวม 25,101 คน ในช่วงเดือนมิ.ย.- ก.ค.60 ครอบคลุมการศึกษาพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ โดยผลสำรวจพบว่า Gen Y เป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันสูงสุด โดยในช่วงวันทำงานหรือวันเรียนหนังสือใช้เฉลี่ยที่ 7.12 ชั่วโมงต่อวัน และมากถึง 7.36 ชั่วโมงต่อวันในช่วงวันหยุด ขณะที่ Gen X และ Gen Z ใช้อินเทอร์เน็ตในวันทำงานและวันเรียนหนังสือ โดยเฉลี่ยเท่ากันที่ 5.48 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในวันหยุด Gen Z กลับใช้เพิ่มขึ้นเป็น 7.12 ชั่วโมงต่อวัน สวนทางกับ Gen X ที่ใช้ลดลงที่ 5.18 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนกลุ่ม Baby Boomer ใช้ 4.54 ชั่วโมงต่อวันในวันทำงาน และ 4.12 ชั่วโมงต่อวันในวันหยุด

นอกจากนี้ ยังพบว่า 61.1% ของกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ย 3.06 ชั่วโมงต่อวัน โดย 30.8% มีปริมาณการใช้เท่าเดิม และมีเพียง 8.1% ที่ใช้ลดลง เฉลี่ยที่ 2.24 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนสถานที่ที่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดยังคงเป็นที่บ้าน รองลงมาคือที่ทำงาน ตามมาด้วยการใช้ระหว่างเดินทาง และที่สถานศึกษา

โดยในปีนี้ ส่วนกิจกรรมที่นิยมทำเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การใช้โซเชียลมีเดีย (86.9%) การค้นหาข้อมูล (86.5%) การรับส่งอีเมล (70.5%) การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ (60.7%) และการซื้อสินค้าออนไลน์ (50.8%) นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยมีไลฟ์สไตล์ดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเปลี่ยนวิธีทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำในแบบออฟไลน์มาเป็นออนไลน์มากขึ้น เช่น การจองและซื้อตั๋วโดยสาร การจองห้องพักโรงแรม การฟังเพลง การดูภาพยนตร์ และการบริการรับส่งเอกสาร

สำหรับโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ YouTube (97.1%), Facebook (96.6%), Line (95.8%), Instagram (56%), Pantip (54.7%), Twitter (27.6%) และ WhatsApp (12.1%) นอกจากนี้ คนไทยเผชิญกับปัญหาการถูกรบกวนจากโฆษณาออนไลน์มากที่สุด ตามด้วยความล่าช้าในการเชื่อมต่อ และใช้งานอินเทอร์เน็ต และอินเทอร์เน็ตหลุดบ่อย อีกทั้งการประสบปัญหาจากการออนไลน์แล้วไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร และการถูกรบกวนจากอีเมลขยะก็ยังเป็นปัญหาที่คนไทยให้ความสำคัญมากเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ