คนร.ไฟเขียวตั้งบ.เครือ กฟภ.ทำโรงไฟฟ้าประชารัฐ 3 จ.ใต้ พร้อมรับทราบคืบหน้าแผนฟื้นฟู 7 รสก.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 11, 2017 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบหลักการจัดตั้งบริษัทในเครือของ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 3 บริษัท โดย พีอีเอฯ จะถือหุ้นในสัดส่วน 40% เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในส่วนของแผนงานผลิตไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวล กำลังการผลิตรวม 12 เมกะวัตต์ และมีสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นเวลา 20 ปี

พร้อมทั้ง รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว.มีผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นไปตามแผนที่กำหนด การปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามเป้าหมาย ปัจจุบันมียอดปล่อยสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 30,000 ล้านบาท แม้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จะสูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ยังสามารถรักษา BIS Ratio ได้สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด โดยอยู่ที่ 11%

ด้านธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) มีความคืบหน้าด้านการหาพันธมิตรที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีการเจรจาพันธมิตร 13 ราย ซึ่ง คนร.ขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.61

ส่วน บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม คาดว่าบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) ดำเนินธุรกิจเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำและอินเตอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ และ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และ ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ในการดำเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือน พ.ย.60

บมจ.การบินไทย (THAI) ผลการดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่กำหนด รายได้รวมใกล้เคียงเป้าหมาย และคาดว่าอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) ปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 78% หลังจากในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ทำได้แล้วเฉลี่ย 80.7%

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คนร.ขอให้ขสมก.เร่งดำเนินการจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น คนร.เห็นชอบหลักการรูปแบบการบริหารจัดการโครงการรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) โดยให้ รฟท.จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถและซ่อมบำรุง และให้จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ที่มีพื้นที่ประมาณ 29,000 ไร่ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ราว 3 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ