โพลล์หอการค้า เผยหนี้ครัวเรือนไทยปี 60 เริ่มทรงตัว การก่อหนี้นอกระบบลดต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 12, 2017 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิบการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2560 พบว่า ในปีนี้ประชาชนส่วนใหญ่มีการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงทั้งในด้านปริมาณและมูลค่าเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเหตุผลที่มีการใช้จ่ายลดลง เนื่องจากดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมา คือ มีภาระหนี้สินมาก, รายได้ลดลง, ราคาสินค้าแพงขึ้น และไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ที่ตอบว่ามีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะมีภาระหนี้สินลดลง รองลงมาคือ ราคาสินค้าแพงขึ้น, ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, รายได้สูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจดี

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ในเกือบทุกภูมิภาคจะตอบว่ามีการใช้จ่ายที่ลดลงในปีนี้ทั้งแง่ของปริมาณและมูลค่า ยกเว้นประชาชนในภาคใต้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

สำหรับความคิดเห็นต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 48.6% ระบุว่าค่าครองชีพสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ ส่วนอีก 38.7% ระบุว่าเหมาะสม มีเพียง 12.7% ที่ตอบว่าค่าครองชีพต่ำเมื่อเทียบกับรายได้ จากการสำรวจยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 91.9% มีหนี้สิน โดยมีเพียงส่วนน้อยที่ 8.9% เท่านั้นที่ตอบว่าไม่มีหนี้สิน ซึ่งสาเหตุของการเป็นหนี้ 5 อันดับแรก คือ หนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป รองลงมา คือ หนี้ซื้อทรัพย์สิน (รถยนต์), หนี้เพื่อชำระหนี้เก่า, หนี้ซื้อบ้าน และหนี้เพื่อประกอบธุรกิจ ทั้งนี้พบว่าการก่อหนี้ของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แล้ว 56.4% ระบุว่า มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ รองลงมา 42.4% ระบุว่า มีเฉพาะหนี้ในระบบ และที่เหลือ 1.2% ระบุว่ามีหนี้นอกระบบ

โดยพบว่าแต่ละครัวเรือนมีภาระหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนและ 299,266 แสนบาท ขยายตัว 0.4% จากปีก่อน หรือมีการผ่อนชำระเดือนละ 15,438 บาท แยกเป็นหนี้ในระบบ 74.6% และหนี้นอกระบบ 26.4% ซึ่งลักษณะของหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ หนี้ก่อนเก่าและก้อนใหม่รวมกัน รองลงมาเป็นหนี้เก่าทั้งหมด และที่เหลือเป็นหนี้ใหม่ สาเหตุของการเป็นหนี้เพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก คือ มีการซื้อทรัพย์สินถาวรเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ รายได้ลดลง และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ 79.3% เคยประสบปัญหาขาดผ่อนชำระหนี้ ในขณะที่ 20.7% ตอบว่าไม่เคย และเมื่อให้เปรียบเทียบหนี้สินกับรายได้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 59.7% ตอบว่าหนี้เพิ่มเท่ากับรายได้ รองลงมา 24% ตอบว่าหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้ และที่เหลือ 16.3% ตอบว่าหนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้

ด้านทัศนะเกี่ยวกับการกู้ยืมและภาระหนี้สิน โดยภายใน 1 ปีนับจากนี้มีความต้องการจะกู้เงินหรือไม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 70.7% ตอบว่าไม่มีความต้องการกู้เงิน ขณะที่ 29.3% ตอบว่ายังมีความต้องการกู้เงิน ซึ่งส่วนใหญ่ 91.4% เป็นการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในระบบ ที่เหลืออีก 8.6% เป็นการกู้จากแหล่งเงินนอกระบบ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน 5 อันดับแรก คือ หนี้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป, เพื่อชำระหนี้เก่า, หนี้ซื้อทรัพย์สิน (รถยนต์), หนี้ซื้อบ้าน และหนี้เพื่อลงทุนประกอบธุรกิจ

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาชำระหนี้สูงสุด 5 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมา คือ ความไม่แน่นอนในงานที่ทำ, ค่าใช้จ่ายประจำวันสูงขึ้น, ไม่มีแหล่งให้กู้ยืมเงินเพิ่มเติม และรายได้ลดลง พร้อมกันนี้ได้เสนอแนะให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน ดังนี้ แก้ไขปัญหาลดค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำมัน, ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน เช่น ค่ารักษาพยาบาล, แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการลดอัตราเงินกู้, มีการส่งเสริมรายได้ให้แก่ประชาชน และจัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ รวมทั้งแก้ปัญหาการว่างงาน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ