ออมสินเผยดัชนีศก.ฐานราก Q3/60 ปรับตัวดีขึ้นคาดต่อเนื่องปลายปี จากแรงหนุนศก.ฟื้น-ส่งออก-ใช้จ่ายภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday November 5, 2017 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ประจำไตรมาส 3 ปี 2560 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 1,941 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี GSI ไตรมาส 3 ปี 2560 อยู่ที่ระดับ 46.9 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 46.3 และคาดการณ์ว่าไตรมาส 4 จะมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

"ประชาชนระดับฐานรากรู้สึกว่า ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ประชาชนระดับฐานรากยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย" นายชาติชายระบุ

สำหรับ GSI ในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ประชาชนระดับฐานรากมีมุมมองที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.8 ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการประชารัฐสวัสดิการ (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ที่จะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านความสามารถในการชำระหนี้สิน การหารายได้ และภาวะเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนด้านความสามารถจับจ่ายใช้สอย การออม และ โอกาสในการหางานทำปรับตัวลดลง

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ประชาชนระดับฐานรากมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในด้านความสามารถในการชำระหนี้สิน และการออม ส่วนด้านความสามารถจับจ่ายใช้สอย การหารายได้ โอกาสในการหางานทำ และภาวะเศรษฐกิจ ปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากจะปรับตัวสูงขึ้นช่วงปลายปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ และการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือประชาชนฐานราก ในโครงการประชารัฐสวัสดิการที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสภาพคล่องให้กับประชาชนฐานรากได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการออมของประชาชนระดับฐานรากทั่วประเทศ โดยสอบถามถึงพฤติกรรมการออมของประชาชนระดับฐานรากในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 55.4% มีเงินออม โดยส่วนใหญ่ 59.8% ของผู้ที่มีเงินออมมีการออมแบบรายเดือน จำนวนเงินออมเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วง เวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าสัดส่วนผู้ที่มีเงินออมเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 สัดส่วนประชาชนระดับฐานรากมีเงินออมอยู่ที่ 41.6% ของกลุ่มตัวอย่าง

สำหรับวิธีการออมของผู้ที่มีเงินออม พบว่า ส่วนใหญ่ 63.7% เมื่อมีรายได้จะหักเงินออมไว้ก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นพฤติกรรม ที่ดีที่จะทำให้สามารถออมเงินได้ ในขณะที่ 36.3% นำเงินไปจับจ่ายใช้สอยก่อน ถ้ามีเงินเหลือจึงออมจะทำให้ออมได้ไม่สม่ำเสมอ

เมื่อสอบถามถึงวัตถุประสงค์การออมเงินของประชาชนระดับฐานราก พบว่า วัตถุประสงค์ 3 อันดับแรก คือ เพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน/เจ็บป่วย (79.8%) รองลงมาเพื่อไว้ใช้ในยามชรา/ช่วงวัยเกษียณจากการทำงาน (45.6%) และเก็บไว้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ/ค้าขาย (30.5%) จะเห็นว่าการออมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยยังมีสัดส่วนที่น้อย อาจเนื่องจากประชาชนระดับฐานรากยังมีรายได้ที่ไม่มากพอ

เมื่อสำรวจลักษณะการออมและการลงทุนที่มีในปัจจุบันของประชาชนระดับฐานราก พบว่า ประชาชนระดับฐานรากมีการออม/การลงทุน 3 อันดับแรก คือ ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ (79.8%) เก็บไว้ที่บ้าน/ครัวเรือน (57.0%) และ ฝากกับองค์กร/หน่วยงาน/บริษัท เช่น กองทุนบำเน็จบำนาญ/กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนประกันสังคม ฯลฯ (35.5%)

ส่วนอุปสรรคสำคัญที่ไม่สามารถออมเงินได้ คือ ไม่มีเงินเหลือพอที่จะเก็บ (75.1%) มีเหตุฉุกเฉิน/จำเป็นต้องใช้เงิน (62.8%) และต้องนำเงินไปชำระหนี้ (43.2%) และเมื่อสอบถามถึงเป้าหมายการออม/ การลงทุนในอนาคต พบว่า ส่วนใหญ่ 53.3% มีการตั้งเป้าหมายที่จะออมเงิน/ลงทุน โดยมีเป้าหมาย 3 อันดับแรก คือ ฝากไว้กับธนาคาร ซื้อทอง และซื้อที่ดิน/ที่อยู่อาศัย

นายชาติชาย กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีการออมเงิน และผู้ที่มีการออมส่วนใหญ่ มีการออมอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนระดับฐานรากมีสัดส่วนจำนวนผู้ที่มีการออมเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันส่งเสริมการออม และเผยแพร่คำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงสอนให้คนไทยประหยัดอดออม และดำเนินชีวิตแบบพอเพียง

อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนระดับฐานรากไม่สามารถเก็บออมได้ คือ ไม่มีเงินเหลือพอที่จะเก็บออม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่าย และลดภาระหนี้สิน โดยเปลี่ยนจากหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในชีวิต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ