(เพิ่มเติม) บอร์ด EEC ให้ตั้งเขตส่งเสริมอุตฯ-นวัตกรรมดิจิตอลในศรีราชา, เพิ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นอีก 1 อุตฯ เป้าหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 22, 2017 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กนศ.) หรือบอร์ด EEC เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้เขตส่งเสิรมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เป็นโครงการ EEC Project List เพื่อดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชน ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และขอให้ศึกษารายละเอียดแผนการร่วมทุนเพื่อดำเนินการโดยเร็ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบการพัฒนาดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ได้แก่ แผนผังการใช้พื้นที่ EECd ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี, รูปแบบการลงทุนที่จะมีการร่วมทุนกับเอกชนชั้นนำของโลก และแผนการจัดตั้งสถาบันไอโอที เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต ขนาดประมาณ 40,000 ตร.ม. รวมพื้นที่สนามทดสอบรถยนต์ที่ขับเองได้ และโดรน จำนวน 30 ไร่

สำหรับแนวทางการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญนั้น ได้มีการเสนอขอให้เพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 1 อุตสาหกรรม คืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่ 11 โดยมอบหมายกระทรวงกลาโหม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปพิจารณา

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังรับทราบมูลค่าการลงทุนที่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย.60 ในพื้นที่ EEC เป็นเงินลงทุนรวม 104,164 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย 67,800 ล้านบาท พร้อมรับทราบความก้าวหน้าและแผนงานการลงทุนของโครงการสำคัญที่ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อร่วมกันพิจารณาแล้ว เช่น การบินไทย แอร์บัส ลาซาด้า อาลีบาบา แอร์เอเชีย เอสที แอร์โรสเปส นิสสัน บีเอ็มดับเบิลยู ไมเนอร์ฟูดกรุ๊ป และขอให้เร่งทำให้เกิดการลงทุนโดยเร็วที่สุด

นายคณิศ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบการประกาศเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ในปี 60 และแผนการดำเนินงานในปี 61 โดยในปี 60 เห็นชอบให้นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จ.ระยอง พื้นที่รวมกัน 3,366 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในขณะที่ช่วงครึ่งปีแรกของปี 61 ที่ประชุมได้รับทราบแผนในการประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 9 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 3 หมื่นไร เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC

"ที่ประชุมฯ ยืนยันนโยบายที่จะขยายการลงทุนอุตสาหกรรมเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น และขอให้การนิคมฯ เร่งประสานงานกับผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใน EEC โดยเร็ว ให้ได้เท่ากับเป้าหมาย 5 หมื่นไร่ ใน 5 ปี" เลขาธิการ EEC ระบุ

สำหรับการติดตามงานโครงการพื้นฐานที่สำคัญนั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้รับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ-บมจ.การบินไทย-แอร์บัส เป็นโครงการเร่งด่วน และให้เป็นโครงการหนึ่งใน EEC Project List ที่จะเข้ากระบวนการรัฐร่วมทุนกับเอกชนตามระเบียบของ EEC

นายคณิศ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐาน และให้ทุกโครงการเขียน TOR เพิ่มเติมเรื่องการใช้ยางพาราเป็นองค์ประกอบในการก่อสร้างด้วย

1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยคาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายใน ก.พ.61 คัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ ก.ค.61 และเปิดให้บรการ 66

2. กลุ่มโครงการที่เกี่ยวกับเมืองการบินภาคตะวันออก

  • โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในเดือนพ.ค.61 คัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จในต.ค.61 และเปิดให้บริการปี 66
  • โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา คาดว่าจะจัดทำรายละเอียดการร่วมทุนกับเอกชนได้ในเดือนมี.ค.61 เริ่มดำเนินธุรกิจได้ในปี 64
  • โครงการพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นการพัฒนาพื้นที่เตรียมพร้อมโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก เช่น การก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 การก่อสร้างทางขับ (Taxiway) เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินการให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก

3. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ และการขนส่งทางรางเพื่อเชื่อม 3 ท่าเรือ

  • โครงการท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ในระหว่างการศึกษาสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนมิ.ย.61 คัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ ต.ค.61 และเปิดให้บริการ 68
  • โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนมิ.ย.61 คัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ ก.ย.61 และเปิดให้บริการ 67
  • โครงการท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่ คาดว่าจะเปิดให้บริการ ก.พ.62
  • โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ คาดว่าจะจัดทำรายงานการศึกษาแล้วเสร็จปี 62 คัดเลือกและดำเนินการในปี 63 และเปิดให้บริการปี 66
  • โครงการบริการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ในชั้นต้นให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการศึกษา และทำข้อเสอนจัดหาระบบโปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูล คาดว่าจะติดตั้งระบบได้ในปี 62
  • โครงการ ICD บริเวณฉะเชิงเทรา คาดว่าจะจัดจ้างที่ปรึกษาได้ไม่เกิน ก.พ.61

นายคณิศ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี (พ.ศ.2560-2564) โดยประกอบด้วย 4 แนวทางหลัก ดังนี้ 1.เน้นการผลิตบุคลากร และสร้างความรู้ตามความต้องการของตลาด 2.ให้ผู้ประกอบการเอกชนประสานงานโดยตรงกับสถาบันการศึกษา 3.ระดมความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและศูนย์เทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลก เพื่อร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทยเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยยังต้องการเข้ามาทำงานและฝึกอบรมบุคลากรของไทย 4.ร่วมมือกับนักลงทุนชั้นนำของโลก ผลิตบุคลากรสนองความต้องการของภูมิภาค โดยเฉพาะด้านการบิน, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, การท่องเที่ยว และการแพทย์

พร้อมอนุมัติงบประมาณจากงบกลาง ปี 61 สำหรับโครงการเร่งด่วนที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพัฒนาบุคลากร ในกรอบวงเงิน 861 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ปี 61 ผลิตครูต้นแบบในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเร่งด่วนอย่างน้อย 150 คน, จัดโครงการให้เด็กและเยาวชนได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และระบบสารสนเทศ อย่างน้อย 4 หมื่นคน และจัดโครงการให้เกษตรกรอย่างน้อย 1 หมื่นคน ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ใหม่จากสถาบันชั้นนำและมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ที่ประชุมให้นำร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าว ไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมการศึกษาในพื้นที่ EEC เพื่อนำมาปรับปรุงแผน และโครงการในระยะปานกลาง (ปี 62-64) โดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ