รมว.ดีอี เตรียมหารือ กสทช.ภายในสัปดาห์นี้ แผนเดินหน้าโครงการขยายอินเทอร์เน็ตประชารัฐอีกกว่า 15,000 หมู่บ้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 5, 2017 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า ตามที่มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบให้มอบโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล อีกจำนวน 15,732 หมู่บ้าน ให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) หน่วยงานภายใต้กระทรวงดำเนินการได้นั้น ภายในสัปดาห์นี้ ตนเองจะเข้าหารือกับ กสทช.เพื่อรับทราบรายละเอียดก่อนถึงจะตัดสินใจว่าจะทำได้หรือไม่

ในการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล (อินเทอร์เน็ตชายขอบ) กสทช.ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการศึกษาและออกแบบการวางโครงข่าย โดยได้มีผลการศึกษาและกำหนดแนวทางในการออกแบบรวมถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีในแต่ละพื้นที่แล้ว กระทรวงดีอีจึงต้องพิจารณาในรายละเอียดในการติดตั้งว่าจะตรงกับมาตรฐานที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทำแทนกระทรวงหรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากกระทรวงจะรับมาทำก็อาจจะมอบหมายให้ ทีโอที ทำในลักษณะเบิกจ่ายแทนกันเหมือนเดิม เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน

ส่วนเงื่อนไขเรื่องราคาให้บริการตามบ้านประชาชนต้องอยู่ที่เดือนละ 200 บาทนั้น ขอยืนยันว่าโครงการเน็ตประชารัฐไม่สามารถกำหนดอัตราค่าบริการอัตราเดียวกับโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบ 3,920 หมู่บ้านเหมือนที่กสทช.ทำได้ เพราะเงื่อนไข และปัจจัยต่างกัน พื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน

สำนักงาน กสทช. ได้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการศึกษาราคากลาง และจุดที่จะให้บริการ โดยกรอบที่ศึกษาที่ได้วางกรอบไว้ คือ แนวทางที่ 1 ดำเนินการตามกรอบแนวทางที่ กสทช. ดำเนินการในส่วนของโครงการยูโซ่เน็ตชายขอบที่ดำเนินการอยู่ว่าจะต้องใช้กรอบวงเงินในการดำเนินการเท่าใดนั้น โดยโครงการยูโซ่เน็ตชายขอบที่ กสทช. ดำเนินการต้องมีอัตราค่าบริการไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน จะต้องมีการรับประกัน 5 ปี โครงข่ายต่างๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้นมาจะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ สถานที่ราชการของรัฐ ในพื้นที่ให้บริการจะต้องเปิดจุดเชื่อมต่อสัญญาณให้ฟรี ซึ่งจากการศึกษาถ้าจะดำเนินการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกลโซนซี ดังกล่าว ตามเงื่อนไขนี้ จะต้องใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านบาท ในการดำเนินการ

แนวทางที่ 2 ดำเนินการตามขอบเขตงาน และเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้ทีโอที ดำเนินการขยายโครงข่าย และติดตั้งอุปกรณ์จุดบริการไวไฟโดยมีระยะเวลาการสนับสนุนการให้บริการ 1 ปี ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันกรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 3,283.155 ล้านบาท และ แนวทางที่ 3 กรณีดำเนินการตามขอบเขตงานและเงื่อนไขเช่นเดียวโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้ ทีโอที ดำเนินการ แต่เพิ่มระยะเวลาการสนับสนุนการให้บริการเป็น 5 ปี จะใช้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 7,119.946 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ