พณ.ชี้ช่องพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ-กลุ่ม Vegan เป็น Niche Market ในเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 12, 2017 13:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจันทิรา ยิมเรวัติ วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์เริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวเยอรมนีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพ รวมถึงกลุ่ม Vegan ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติที่หลีกเลี่ยงไม่บริโภคอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสัตว์ และถือเป็นกลุ่มเฉพาะใหม่ (Niche Market) ที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการเจาะตลาด เพราะกลุ่มผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เหล่านี้ กำลังเป็นกลุ่มที่เติบโตสูง และสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ในยุโรปที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ต้องการความเป็นธรรมในสังคมและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่มีโอกาสในการขยายตลาดในเยอรมนี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาหาร เช่น ข้าวหอมมะลิ ถั่วเหลือง กุ้ง ผัก ผลไม้ นมที่ผลิตจากข้าวหรือถั่ว ชา กาแฟ น้ำตาล น้ำมันมะพร้าว ซีเรียล เส้นก๋วยเตี๋ยว ผลไม้อบแห้ง สมุนไพร น้ำเชื่อม น้ำส้มสายชูหมัก เครื่องแกง ซอสปรุงรส เป็นต้น และกลุ่มไม่ใช่อาหาร เช่น สมุนไพร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และกระเป๋า เป็นต้น

“สินค้าในกลุ่มอาหารของไทย โดยเฉพาะข้าวอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์และข้าวสีอินทรีย์ เป็นกลุ่มที่กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุน และผลักดันการส่งออกเข้าสู่ตลาดยุโรปอยู่แล้ว ซึ่งในตลาดเยอรมนี แม้ว่าชาวเยอรมันจะบริโภคข้าวไม่มาก แต่ที่น่าสนใจ คือ มีการบริโภคข้าวอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีของไทยในการขยายตลาดข้าวอินทรีย์เข้าสู่ตลาดเยอรมนี"นายสนธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ในการเจาะเข้าสู่ตลาด ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ควรจะพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายตามความต้องการของตลาด และเน้นการแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะการแปรรูปจะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เต้าหู้ในรูปแบบต่างๆ นมจากข้าวหรือถั่ว ซอสปรุงรส และน้ำจิ้ม เป็นต้น

ส่วนสินค้าสมุนไพร ปัจจุบันพบว่า มีโอกาสในการขยายเข้าสู่ตลาดเยอรมนีสูงมาก ตามการขยายตัวของนวดแผนไทยและสปาออร์แกนิกส์ เพราะชาวเยอรมันที่เข้ามาใช้บริการธุรกิจดังกล่าว มันจะเป็นคนที่ต้องการการผ่อนคลายและรักษาสุขภาพ ซึ่งจะสอดคล้องกับธุรกิจที่ใช้น้ำมันนวด น้ำมันหอมระเหย ครีมนวดต่างๆ ที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี

นอกจากนี้ ในกลุ่มของสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และกระเป๋า ที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ พบว่า เป็นสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวสูง และสามารถส่งออกเข้าไปยังตลาดเยอรมนีได้ง่ายกว่าสินค้าที่เป็นเกษตรอินทรีย์

นางจันทิรา กล่าวว่า ทางด้านช่องทางการจำหน่ายและการเข้าสู่ตลาดเยอรมนี หากเป็นสินค้าด้านอาหาร ควรจะเจาะกลุ่มผู้ผลิตต่างๆ เช่น Bioland , Naturland และ Demeter หรือผู้ประกอบการด้านอาหารเกษตรอินทรีย์รายใหญ่ในประเทศเยอรมนี เช่น Alnatura และหากเป็นสินค้าที่ใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว สบู่อาบน้ำ แชมพู ควรจะเจาะผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น Alverde หรือผู้ประกอบการแบรนด์ใหม่ๆ ที่กำลังทำตลาด เช่น Dr.Hauschka

ปัจจุบันมูลค่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเยอรมนีในปี 2560 คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 10,000 ล้านยูโร แต่มีส่วนแบ่งตลาดในสินค้าอาหารทั้งหมดเพียง 5.1% มีจำนวนสินค้าที่จำหน่ายมากกว่า 75,000 ชนิด เช่น น้ำมันพืช เนื้อสัตว์ปีก มันฝรั่ง ผลไม้ ผัก นม เนื้อวัว เนื้อหมู ไข่ ขนมปัง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อ เนยแข็ง เนย เป็นต้น และปัจจุบัน มีร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นถึง 40,000 แห่งทั่วประเทศ และยังมีร้านจำหน่ายสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ทางออนไลน์เพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ