ดีป้า จัดงาน"Asia Digital Expo 2018" 25-27 ม.ค.61 ชูมาตรการลดหย่อนภาษี 200%กระตุ้นใช้ซอฟต์แวร์ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 18, 2017 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ดีป้าเตรียมจัดงาน "Asia Digital Expo 2018: Digital Transformation" ภายใต้แนวคิด "ผู้ประกอบการยุค 4.0 ปรับตัวเพื่อเติบโตสู่ยุคดิจิทัล" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 25-27 ม.ค. 2561

โดยเป็นงานแสดงนิทรรศการและเทคโนโลยีชั้นนำด้านดิจิทัล พร้อมกิจกรรมสัมมนา ซึ่งได้เชิญ "ดิจิทัลกูรู" ทั้งไทยและระดับโลกประมาณ 100 ราย ในทุกสาขามาสร้างความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจดิจิทัล ตลอดจนการเจรจาธุรกิจในอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะมีผู้ร่วมแสดงนิทรรศการประมาณ 250 บริษัท และ 20 องค์กรจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แบ่งเป็นโซน Robotics & Mechatronics Smart Devices,Travel and Health Wellness, Digital & Convergence, Food & Agriculture Biotechnology อาทิ บริษัท โรบอท เมคเกอร์ จำกัด , บริษัท นีโอเทค จำกัด , บมจ.บิซิเนส ออนไลน์ (BOL), บริษัท อินโนวา ซอฟท์แวร์ จำกัด , บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ กรีน พลัส จำกัด, บริษัท แมงโก้ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ฮิปโป เทคโนโลยี จำกัด

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแสดงนวัตกรรมด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาค แสดงศักยภาพด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ที่สำคัญจะเป็นเวทีในการสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย (Business Match-making) เพื่อให้ผู้ประกอบการมาต่อยอดไอเดีย เสนอต่อผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการจากจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น มาร่วมงาน ทั้งนี้ หากต่างประเทศสนใจ ทางดีป้าจะมีกองทุนให้กับสตาร์ทอัพที่จะเดินทางไปเจรจาในต่างประเทศ

“หลังมีข้อตกลงภายในงาน ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดกับมาตรการส่งเสริมที่ดีป้ามีไว้รองรับในการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจดิจิทัล เช่น ดีป้า อินเตอร์เนชันนัลไลเซชัน ฟันด์ ซึ่งสนับสนุนเงินทุนวงเงินไม่เกินรายละ 200,000 บาท ให้เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก และค่าการพรีเซนต์ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องสำรองจ่ายก่อน แล้วนำมาเบิกจากดีป้าภายหลัง ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถให้การสนับสนุนกับผู้ประกอบการได้ประมาณ 100 ราย โดยการเจรจาธุรกิจของแต่ละรายน่าจะมีมูลค่า 3-5 ล้านบาท" นายณัฐพล กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้นำมาตรการทางภาษีมาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทันทีที่ซื้อผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์หรือว่าจ้างผลิตซอฟต์แวร์จากผู้ประกอบการไทยที่ได้มาตรฐาน ISO : 29110 ที่ดีป้าให้การรับรองมาตรฐาน ให้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้ถึง 200%

"เท่ากับว่า ผู้ประกอบการไม่ได้จ่ายเงินในการจ้างผลิตซอฟต์แวร์เลย ดีป้าจึงอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ เข้าร่วมโครงการจดทะเบียนกับดีป้า เพื่อกระตุ้นความสนใจให้กับสินค้าและบริการของตนเอง ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักธุรกิจและผู้สนใจเข้าร่วมงานประมาณ 1 หมื่นคน และมีการเจรจาธุรกิจ 400-500 ดีล สร้างเงินสะพัดกว่า 200 ล้านบาท ช่วยสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล"

ด้านนายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ด้านยุทธศาสตร์และบริหาร) กล่าวว่า มาตรการภาษีใหม่ 200% "หักรายจ่ายภาษีสองเท่า เราทำได้" ถือว่า "win-win" กันทั้งสองฝ่าย เพราะนอกจากผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะได้เพิ่มโอกาสทางการตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้ขยายฐานลูกค้าใหม่ ได้แล้ว ทางฝ่ายกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่ขนาดเล็ก – กลาง ในฐานะผู้ซื้อซอฟต์แวร์ยังสามารถนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้เป็นสองเท่า ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีนั้น มีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเลือกใช้บริการกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่จดทะเบียนอยู่กับสำนักงานดีป้า หรือมีรายชื่ออยู่เท่านั้น โดยปัจจุบันทางดีป้าได้เปิดให้ผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ทั่วไป ที่สนใจเข้าสู่มาตรการภาษีใหม่ สามารถลงทะเบียนผ่านระบบฐานข้อมูหรือเครือข่ายกับทางดีป้าได้โดยตรง เพียงแค่มีคุณสมบัติดังนี้

1. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่ร้อยละห้าสิบเอ็ดของนิติบุคคลนั้น ถือโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย หากเป็นนิติบุคคลในรูปแบบอื่น ต้องรับความเห็นชอบจากคณะทำงานเป็นกรณีไป

2. ทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ใช่ตัวแทนเพื่อขายหรือให้บริการ

3. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

4. ได้รับการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิตหรือพัฒนาหรือบริการซอฟต์แวร์ เช่น ISO/IEC 29110 หรือ Capability Maturity Model Integration (CMMI) หรือมาตรฐานอื่น ๆ ตามที่สำนักงานฯ กำหนด อย่างหนึ่งอย่างใดจากหน่วยรับรอง (Certified Body)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ