สศก. คาด GDP ภาคเกษตรปี 61 ขยายตัว 3.0-4.0% จากปีนี้โต 5.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 22, 2017 09:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2561 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.0 – 4.0% โดย สาขาพืช ขยายตัว 3.5 – 4.5% สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.3 – 2.3% สาขาประมง ขยายตัว 2.0 – 3.0% สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 2.0 – 3.0% และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 1.5 – 2.5%

โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต และพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด สภาพอากาศและปริมาณน้ำยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร และเศรษฐกิจโลกในปี 2561 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 พบว่า ขยายตัว 5.3% เมื่อเทียบกับปี 2559 ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรขยายตัว คือ นโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยเน้นการบูรณาการงานใน 13 นโยบายหลักประกอบกับสภาพอากาศและปริมาณน้ำเอื้ออำนวยต่อการผลิต ปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญมีเพียงพอ โดยเฉพาะการผลิตข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น อาทิ อาเซียน 9 ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ พบว่า ช่วงธันวาคม 2559 – มกราคม 2560 หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานีและพัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตยางพาราและกุ้งขาวแวนนาไมในไตรมาสแรกของปี 2560 มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ปลายเดือนกรกฎาคม - ต้นเดือนสิงหาคม และช่วงเดือนกันยายน 2560 หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ สกลนคร นครพนม บึงกาฬ และกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวเหนียวนาปีที่สำคัญ ได้รับอิทธิพลจากพายุเซินกาและทกซูรี ส่งผลให้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ผลผลิตข้าวนาปีบางส่วนที่จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ได้รับความเสียหาย อีกทั้งปลายเดือนพฤศจิกายน – ต้นเดือนธันวาคม 2560 หลายพื้นที่ในภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วม ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันจากร่องมรสุมซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และการทำประมงที่สำคัญของประเทศ ทำให้ผลผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และประมงบางส่วนได้รับความเสียหาย

นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า หากพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช ปี 2560 ขยายตัว 6.8% เมื่อเทียบกับปี 2559 พืชสำคัญที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ โดย ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ มีมากกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตและไม่กระทบแล้งในช่วงออกดอก แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนจะถูกปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า แต่ผลผลิตโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น อ้อยโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายโซนนิ่ง ที่สนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยโรงงานทดแทน และโรงงานน้ำตาลยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นด้วย สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสับปะรดในช่วงปี 2558 – 2559 อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูก มีการปลูกแซมในสวนยางพารา และปลูกใหม่ทดแทนมันสำปะหลัง

ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากยางพาราที่ปลูกในปี 2554 ทดแทนพื้นที่พืชไร่ ไม้ผล นาข้าว และพื้นที่ตัดโค่นต้นยางที่มีอายุมากเริ่มให้ผลผลิต ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ใน ปี 2557 แทนพื้นที่ว่างเปล่า นาข้าว สวนเงาะ สวนลองกอง รวมทั้งปลูกทดแทนในสวนปาล์มที่มีอายุมาก ลำไย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2557 เริ่มให้ผลผลิต และสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทุเรียน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุเรียนที่ปลูกในปี 2555 เริ่มให้ผลผลิต และสภาพอากาศเย็นส่งผลดีต่อการออกดอกของทุเรียน มังคุด มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากปีที่ผ่านมาต้นมังคุดให้ผลผลิตน้อย จึงมีระยะพักสะสมอาหารมากขึ้น ประกอบสภาพอากาศเหมาะสมทำให้มีการออกดอกและติดผลมากขึ้น เงาะ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ต้นเงาะสมบูรณ์ มีการออกดอกและติดผลดีด้านราคา

สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน ยางแผ่นดิบ ทุเรียน และมังคุด โดย ข้าว มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตลดลงจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด อ้อยโรงงาน มีราคาเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากผลผลิตน้ำตาลทรายในตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตสำคัญ เช่น บราซิล อินเดีย และจีน ที่ผลผลิตยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาภัยแล้ง

ยางแผ่นดิบ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทุเรียน มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง มังคุด มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตมังคุดที่ออกมามีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 2.0% เนื่องจากการขยายปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่ดี รวมทั้งสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยให้สัตว์เติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้สินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 สินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และโคเนื้อ ลดลง ขณะที่น้ำนมดิบมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบตามมาตรการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงาน รวมทั้งการรักษาระดับผลผลิตให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด

สาขาประมง ขยายตัว 2.2% โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรค ประกอบกับมีการปรับวิธีการเลี้ยงโดยนำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ทำให้ผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น สำหรับผลผลิตประมงน้ำจืด อาทิ ปลานิล ปลาดุก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกษตรกรขยายเนื้อที่เลี้ยงเพิ่มขึ้น และอุณหภูมิน้ำมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต เกษตรกรจึงเพิ่มอัตราการปล่อยลูกพันธุ์ และเพิ่มรอบการเลี้ยง ด้านราคา ในช่วงมกราคม– พฤศจิกายน 2560 ราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับราคาปลานิลขนาดกลางและราคาปลาดุกบิ๊กอุยขนาด 2 – 4 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลง ซึ่งเป็นการลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 4.7% โดยการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และการเกี่ยวนวดข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น ในส่วนอ้อยโรงงานมีการใช้บริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ประกอบกับราคาอ้อยที่อยู่ในเกณฑ์ดี และโรงงานน้ำตาลมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงาน นอกจากนี้ ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มหรือเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้บริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้น

สาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.3% โดยไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส และรังนก มีผลผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมของ กยท. ในการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าที่ให้ผลผลิตไม่คุ้มค่า ปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่น และความต้องการไม้ท่อนเพื่อนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรม ด้านไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถนำไปทำเป็นชิ้นไม้สับและแปรรูปผลิตกระดาษ รวมถึงผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ส่วนผลผลิตรังนกนางแอ่น มีการส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดจีนหันมานำเข้ารังนกไทยอีกครั้งหลังจากที่ระงับการนำเข้ารังนกของทุกประเทศเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา และการผลิตครั่ง มีแนวโน้มดีขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ