ผู้ว่าธปท.ยันปี 61 ยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง รับเงินไหลออกบ้างหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 25, 2017 09:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นโยบายการเงินในปี 61 จะยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้น แต่ธปท.ยังคงต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ประกอบยังไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อมากน่ก โดยแนวโน้มของเงินเฟ้อยังเป็นการค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ แต่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นตามประเทศเศรษฐกิจหลัก เพราะนโยบายการเงินของแต่ละประเทศต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจของประเทศนั้นเป็นหลัก

ในด้านความกังวลที่ว่าหากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอัตราดอกเบี้ยเองสหรัฐฯเข้าใกล้อัตราดอกเบี้ยของไทย จะมีผลต่อเงินทุนไหลอกจากประเทศไทยนั้น มองว่ายังไม่น่ากังวลมากนัก แม้ว่าอาจจะมีเงินไหลออกไปบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาเงินทุนต่างชาติน้อยกว่าประเทศเกิดใหม่อื่นๆ แต่ก็ไม่ควรประมาท โดยยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง ที่อาจจะทำให้เงินเฟ้อโลกปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาด เช่น ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับขึ้น ซึ่งหากเงินเฟ้อโลกปรับขึ้นเร็ว ก็ต้องมาพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทย

สำหรับความเสี่ยงและความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ได้แก่ ความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น กำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึงอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภค ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้น ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ และ การปรับนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักเข้าสู่ระดับปกติ

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 61 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 61 เป็นขยายตัว 3.9% จากเดิม 3.8% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่มีความชัดเจนมากขึ้นส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศมีการเติบโตที่ดี และ การท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี หลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคการท่องเที่ยวไทย

ขณะที่การบริโภคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังเริ่มเห็นสัญญาณการขยายกำลังการผลิตของภาคธุรกิจหลายราย แต่รายได้และการจ้างงานในประเทศยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น แรงงานมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง ส่วนการลงทุนภาครัฐจะเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนที่สำคัญหลักในผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

สำหรับความเสี่ยงและความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ประกอบด้วย ความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น กำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึงอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภค ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้น ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ และ การปรับนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักเข้าสู่ระดับปกติ

ความท้าทายจากเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพและปรับรูปแบบการทำธุรกิจ การสร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบการเงิน และ การรับมือภัยไซเบอร์ การเข้าสูสังคมผู้สูงอายุ ความท้าทายจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึงและเป็นธรรม การได้รับความรู้ทางการเงินอย่างเท่าเทียม และ ความสามารถในการวางแผนทางการเงิน

ส่วนทิศทางของสถาบันการเงินไทยในปี 61 ยังให้ความสำคัญในการแข่งขันด้านนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งธนาคารต้องมีการปรับปรุงสาขาเพื่อให้เข้ากับการบริการทางการเงินสำหรับลูกค้าแต่ละประเภทโดยสามารถใช้เพย์เม้นท์ เอเจนท์ เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทย เข้ามาช่วยสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้สาขา โดยธนาคารต้องควบคุมความเสี่ยงของเพย์เม้นท์ เอเจนท์ เหล่านี้ด้วย

ส่วนปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบสถาบันการเงิน หลังจากที่ธปท.ออกมาตรการควบคุมวงเงินการให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันนั้น ในแง่ของคุณภาพหนี้เห็นการปรับตัวที่ดีขึ้น ประกอบกับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงมีความแข็งแกร่ง และความสามารถในการหารายได้ของธนาคารมีการเติบโตที่ดี ทำให้มองว่าในปี 61 ธนาคารพาณิชย์จะไม่ปัญหาหนี้อ่อนแอเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับกระบวนการการปล่อยสินเชื่อที่มีความระมัดระวังมากขึ้น และกระจายการปล่อยสินเชื่อในหลายอุตสาหกรรม

ส่วนการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล และ บิตคอยน์ ธปท.แนะนำให้นักลงทุนต้องทำความเข้าใจว่าเงินสกุลดิจิทัลไม่ใช่เงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่เป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งราคาที่ผันผวน โอกาสที่จะถูกแฮกข้อมูล และถูกชักชวนให้ลงทุนเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งประชาชนต้องศึกษาข้อมูลให้ดี และ ต้องระมัดระวัง อย่างไรก็ตามปัญหาเงินสกุลดิจิทัลยังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของไทย

ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างศึกษาการระดมทุนในรูปแบบใหม่โดยใช้เงินสกุลดิจิทัล (ICO ) ธปท.มองว่าเป็นการพัฒนาการของตลาดทุน ในการระดมทุนผ่านตลาดทุนในรูปแบบใหม่ แต่ยังต้องระมัดระวังเพราะยังมีหลายปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงและต้องศึกษา ซึ่งขณะนี้ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนเพื่อประกอบพิจารณาต่อไป. และออกกฎควบคุมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ