พาณิชย์ จัดทำดัชนี IPI วัดศักยภาพนำเข้า 168 ประเทศหวังขยายตลาดส่งออก พบ“จีน-สหรัฐ-อินเดีย” มีศักยภาพสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 8, 2018 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงการจัดทำดัชนีวัดศักยภาพการนำเข้าของ 168 ประเทศ (Import Potential Index:IPI) ว่า จากผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดศักยภาพการนำเข้า พบว่า ประเทศที่มีศักยภาพในการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ จีน รองลงมา คือสหรัฐ และอินเดีย แต่หากแบ่งตามภูมิภาคจะพบว่าในจำนวนประเทศที่มีศักยภาพสูงสุด 30 อันดับแรก เป็นประเทศในเอเชียถึง 10 ประเทศ และเป็นประเทศในอาเซียน 5 ประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการนำเข้าที่สูงของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกับไทย

"ดัชนี IPI นี้จะช่วยเปรียบเทียบมูลค่าการนำเข้าจากไทย และศักยภาพการนำเข้าของประเทศเหล่านั้นว่าสอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ช่องว่างระหว่างศักยภาพ และมูลค่าการนำเข้าจากไทย โดยเฉพาะกับประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูงแต่มีมูลค่าการนำเข้าจากไทยน้อย เพื่อนำไปสู่การวางนโยบายและใช้เป็นแนวทางการเจรจาการค้าเสรีกับตลาดที่มีศักยภาพ อีกทั้งปรับกลยุทธ์และมาตรการในการส่งเสริมการส่งออกเพื่อขยายตลาดให้สอดคล้องกับศักยภาพการนำเข้าที่แท้จริงเป็นรายประเทศได้อย่างเหมาะสม และช่วยให้ผู้ส่งออกใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาดังกล่าวมาแสวงหาโอกาสการส่งออกสินค้าในตลาดศักยภาพด้วย" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

ทั้งนี้ ประเทศที่ที่มีศักยภาพการนำเข้าสูงสุด 120 อันดับแรกในการส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าว พบว่ามี 24 ประเทศที่มีความสอดคล้องกัน และอีก 96 ประเทศที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งในส่วนของประเทศที่มีศักยภาพในการนำเข้าและอันดับการส่งออกจากไทยไม่สอดคล้องกันนั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ประเทศไทยส่งออกได้สูงกว่าศักยภาพ มี 45 ประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีการผลิตในประเทศเหล่านั้นยังต่ำกว่าประเทศไทย รวมทั้งสินค้าจากไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยมาก

"ในอนาคตความต้องการความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะการบริหารด้านการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นนอกจากการส่งออกสินค้าไทยแล้ว ไทยยังมีโอกาสในการส่งออกภาคบริการไปยังประเทศเหล่านี้ควบคู่ด้วย เช่น ส่งออกอาหาร ควบคู่กับการส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารไทย ส่งออกสมุนไพร ควบคู่กับการส่งเสริมธุรกิจสปา และร้านเสริมความงาม เป็นต้น" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

ส่วนกลุ่มสอง ประเทศไทยส่งออกได้ต่ำกว่าศักยภาพ มี 51 ประเทศ เช่น อินเดีย เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าในอันดับต้นๆ ของโลก แต่สัดส่วนการส่งออกของไทยไปประเทศเหล่านั้นยังมีไม่สูงนัก ซึ่งในกลุ่มนี้ภาคเอกชนควรพิจารณาขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ให้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐเองจำเป็นต้องพิจารณาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) หรือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Partnership) กับประเทศที่ยังไม่มีข้อตกลง รวมทั้งเร่งดำเนินนโยบายการค้าที่เหมาะสมในแต่ละประเทศ

"ยกตัวอย่าง UAE เป็นประเทศมีจุดแข็งด้านรายได้ กำลังซื้อสูง การอำนวยความสะดวกทางการค้าอยู่ในเกณฑ์ดี ดังนั้นยุทธศาสตร์จึงควรส่งเสริมการส่งออกสินค้าคุณภาพและราคาสูง ซึ่งเป็นสินค้าที่ UAE ไม่สามารถผลิตได้เอง เช่น อาหาร สินค้าเกษตร อัญมณี และรถยนต์ เป็นต้น" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

อย่างไรก็ดี สนค. ได้รวบรวมข้อมูล 30 ตัวชี้วัดที่สะท้อนความสามารถในการนำเข้าของประเทศต่างๆ ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก คือ ด้านการค้า, ด้านเศรษฐกิจมหภาค และด้านปัจจัยเสี่ยง ซึ่งค่าดัชนีที่ได้จะสะท้อนความสามารถในการนำเข้าของประเทศต่างๆ ในเชิงเปรียบเทียบ โดยเรียงอันดับประเทศที่มีศักยภาพในการนำเข้าสูงสุดไปจนถึงอันดับน้อยที่สุด โดยจะมีการรายงานดัชนี IPI ปีละ 2 ครั้ง คือช่วงต้นปี และกลางปี เพื่อใช้ในการวางนโยบายการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ และขยายตลาดสินค้าไทยให้สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศผู้นำเข้าได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สนค.จะนำเสนอดัชนี IPI ต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เพื่อรับทราบต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ