(เพิ่มเติม) สภาผู้ส่งออกฯ คาดส่งออกไทยปี 61 โต 5.5% จากกว่า 10% ในปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 9, 2018 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 61 จะขยายตัวได้ 5.5% ภายใต้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ระดับ 3.8% ขณะที่ในปี 60 เชื่อว่าการส่งออกไทยเติบโตได้มากกว่า 10% ที่ระดับ GDP 3.8% เช่นเดียวกัน โดยการส่งออกในปี 60 จะมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และบรรยากาศการค้าโลกที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ของสินค้าหลายชนิด ทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม

น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธาน สรท. กล่าวว่า การเติบโตของการส่งออกไทยในปัจจุบัน ได้รับอานิสงส์จาก 1.การขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของโลก และประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และ CLMV ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2.การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากตลาดศักยภาพ เช่น ตลาดเอเชียใต้ ตลาดเครือรัฐเอกราช (CIS) และแอฟริกาใต้ 3.การปรับตัวลักษณะของสินค้าไทยไปสู่ Digitzation ตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่อุตสาหกรรมมีความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีขึ้นสูงเพิ่มมากขึ้น 4.การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลต่อทิศทางของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับราคาขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยมีปัจจัยบวกที่อาจสนับสนุนการส่งออกในระยะถัดไป 5.การปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคบางส่วนของประเทศจีน และ 6.สหภาพยุโรปมีมติฟื้นสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และการเจรจาการค้าเสรี

ประธาน สรท. มองว่า การส่งออกไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข หรือติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย 1. ค่าเงินบาทที่ยังผันผวนไปในทิศทางที่ยังแข็งค่า อาจจะกระทบต่อการส่งออก สวนทางกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% 2.มาตรการกีดกันการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าสำคัญ 3. ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐอเมริกา เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษี Tax Policy 4. สภาวะทางการเมืองในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในสเปนและผลการเลือกตั้งในอิตาลี 5. สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ

6. ต้นทุนการส่งออกที่อาจเพิ่มสูงขึ้น จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลาง, การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 อาจกระทบกับการขาดแคลนแรงงาน, การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐอเมริกา จะหมดอายุลงวันที่ 31 ธ.ค.60 และยังไม่มีกำหนดนำเรื่องเสนอการต่ออายุเข้าสภา ดังนั้นหากไม่ได้รับการต่ออายุนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 การนำสินค้า GSP เข้าประเทศจะต้องมีการชำระภาษีตามอัตราปกติ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศ 7. ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ที่จะบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 ม.ค.61 ส่งผลให้สินค้าทยอยปรับลดภาษีตามข้อตกลงที่เหลือทั้งหมด ทั้งนี้มีความกังวลว่าสินค้าจากจีนจะทะลักเข้าไปยัง CLMV และทุ่มตลาดสินค้าไทย

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1.ภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และไม่แข็งค่ากว่าคู่แข่งสำคัญ 2. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพของบุคลากรในภาคการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับค่าแรงที่ได้รับ 3. เร่งส่งเสริมการบุกตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ 4.เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 5.ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการออกกฎหมายใหม่ และแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ., กฎกระทรวง ประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการไทย


แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ