(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ม.ค. ขยายตัว 0.68% CORE CPI โต 0.58%, คาดกรอบปีนี้ 0.7-1.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 1, 2018 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ 101.44 ขยายตัว 0.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดคาดจะเติบโต 0.74% และหากเทียบเดือน ธ.ค.60 ขยายตัว 0.07%

ส่วน Core CPI เดือน ม.ค. อยู่ที่ 101.64 ขยายตัว 0.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.03% จากเดือน ธ.ค.60

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 101.60 ขยายตัว 0.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.10% จากเดือน ธ.ค.60 ส่วนส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.37 ขยายตัว 1.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.18% จากเดือน ธ.ค.60

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 61 เป็น 0.7-1.7% จากเดิมคาด 0.6-1.6%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.61 ปรับตัวสูงขึ้น 0.68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนธ.ค.60 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนม.ค.ที่ปรับตัวสูงขึ้น 0.68% เป็นผลจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารสดราคาลดลงต่อเนื่อง

สำหรับสินค้าสำคัญทั้ง 422 รายการ ที่นำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนม.ค.นั้น พบว่า มีสินค้าสำคัญ 129 รายการที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า, ผักสด, ค่าเช่าบ้าน, กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม, ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิว, น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงมี 87 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว, เนื้อสุกร, ไก่สด, ไข่ไก่, น้ำมันพืช, ผงซักฟอก, ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ในขณะที่สินค้าอีก 206 รายการไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 61 ใหม่เป็น 0.7-1.7% จากเดิมที่ 0.6-1.6% โดยมีการปรับเปลี่ยนสมมติฐานใหม่ดังนี้ อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้อยู่ที่ 3.6-4.6% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 55-65 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 32.00-34.00 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากเดิมที่ 33.00-35.00 บาท/ดอลลาร์

โดยมีปัจจัยสนุนที่สำคัญ คือ อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวตามผลผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำปี 61 ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อในประเทศ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใน 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้การส่งออกยังมีการขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และการแข็งค่าของเงินบาท, ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีความผันผวน, การลงทุนภาครัฐอาจมีขั้นตอนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนทั้งหมด

"การปรับคาดการณ์เงินเฟ้อครั้งใหม่ของปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 0.7-1.7% นั้น ได้รวมการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีผลตั้งแต่ เม.ย.61 ไว้แล้ว แต่เชื่อว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในภาพรวมมากนัก" ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว

พร้อมระบุว่า สนค.จะมีการทบทวนราคาสินค้าในตะกร้าที่นำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อใหม่ โดยปัจจุบันเป็นการใช้ฐานราคาสินค้าในปี 58 มาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปกติแล้วจะมีการทบทวนใหม่ในทุก 4 ปี แต่ครั้งนี้จำเป็นต้องมีการทบทวนเร็วขึ้น เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค และช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะการขายสินค้าออนไลน์ จึงทำให้ต้องมีการทบทวนและสำรวจราคาสินค้าในตะกร้าใหม่ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และช่วยให้การคำนวณอัตราเงินเฟ้อมีความแม่นยำมากที่สุด

"ปีนี้เราจะทบทวนดัชนีราคาสินค้าในตะกร้าใหม่ รวมทั้งมีการปรับปรุงแหล่งที่จัดเก็บราคา เพิ่มเติมแหล่งจัดเก็บราคาในหัวเมืองใหญ่ๆ พิจารณาความเหมาะสมของจังหวัดตัวแทน มีการปรับปรุงสินค้าและบริการในตะกร้า ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนบางรายการให้มีความเหมาะสมมากขึ้น...คาดว่าเมื่อจัดทำแล้วเสร็จ จะใช้ราคาในปีฐานของปี 61 นี้ สำหรับการคำนวณอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นไป" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ