กพร.ตั้งเป้ารีไซเคิลขยะเป็นวัตถุดิบทดแทนแร่รองรับอุตสาหกรรม 4.0 มูลค่ากว่า 1 หมื่นลบ./ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 7, 2018 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เผยตั้งเป้าส่งเสริมและพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนด้านแร่ โลหะ และสารประกอบโลหะ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม การสร้างการมีส่วนร่วม และการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมไทย 4.0 เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศ

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega Projects) ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกเว้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ดังกล่าวจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบตั้งต้นที่เป็นแร่ โลหะ สารประกอบจากแร่และโลหะ ที่มีความหลากหลาย มีคุณภาพสูง มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

สำหรับวัตถุดิบทดแทนที่มาจากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย กพร.ได้ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย เพื่อแยกสกัดแร่และโลหะกลับมาใช้ประโยชน์ รวมถึงแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน หรือที่เรียกกันในหลายประเทศว่าการทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban mining) โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการนำขยะ วัสดุเหลือใช้ รวมถึงผลพลอยได้ (By-products) จากกระบวนการผลิต กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนสู่ Zero Waste Society

โดยอาศัยจุดแข็งของกรมฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแต่งแร่ และด้านเทคโนโลยีโลหการ ซึ่งเป็นรากฐานของเทคโนโลยีรีไซเคิล ร่วมดำเนินงานกับที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้วัสดุเหลือใช้และกากของเสียที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเฉลี่ย 50 ล้านตันต่อปี กลายเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านแร่ โลหะ และพลังงานทดแทนที่สำคัญของประเทศ

นายวิษณุ กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจากผู้ประกอบการที่ได้รับการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีรีไซเคิลจาก กพร. พบว่า ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการลงทุนและ/หรือการรีไซเคิลของเสียเป้าหมาย 100–130 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจุบัน กพร. มีเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสีย รวม 69 ชนิด โดย 39 ชนิด ได้พัฒนาเป็นเทคโนโลยีรีไซเคิลต้นแบบของ กพร. ซึ่งมีศักยภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

และภายในเดือน ส.ค.61 กพร.จะเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของรัฐแห่งแรกของประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) และขยายผลไปสู่โรงงานต้นแบบ (Pilot scale) เพื่อผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการได้ศึกษาเรียนรู้กระบวนการรีไซเคิล และการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นตามหลักวิชาการ โดยจะสามารถรองรับการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีรีไซเคิลให้แก่ผู้ประกอบการทั้งใน Lab scale และ Pilot scale ได้ไม่น้อยกว่า 200 รายต่อปี

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีขยะหรือของเสียเกิดขึ้นเฉลี่ย 50 ล้านตันต่อปี เป็นของเสียครัวเรือน 25-26 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในประเทศเฉลี่ยเพียง 18-20% และของเสียอุตสาหกรรม 25-30 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในประเทศเฉลี่ย 70-75% ซึ่งหากสามารถเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของเสียครัวเรือนและอุตสาหกรรมได้อีก 10% และมีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะหรือของเสียที่มีประสิทธิภาพและครบวงจรตั้งแต่กิจกรรม/กระบวนการที่ก่อให้เกิดของเสีย กระบวนการคัดแยก การจัดเก็บรวบรวม การขนส่ง การรีไซเคิล การบำบัด และการกำจัด รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลในประเทศ คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการลงทุน/การนำของเสียเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยกุญแจสำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือแบบ 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา

"ผมมองว่าด้วยนวัตกรรมและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เราสามารถเปลี่ยนขยะหรือของเสียให้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนที่สำคัญ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศได้ ดังเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งหลายประเทศไม่มีแหล่งแร่ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนสู่ Zero Waste Society" นายวิษณุ กล่าว

ทั้งนี้ กพร.เตรียมจัดสัมมนาหัวข้อ "Innovation for materials value-added" เพื่อสำรวจทิศทางความต้องการใช้วัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนในวันที่ 22 ก.พ.61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ