ผู้ผลิตเหล็กหวั่นเหล็กนอกทะลักเข้าไทย หลังสหรัฐฯ เตรียมใช้มาตรา 232 ร้องพาณิชย์เร่งหามาตรการปกป้อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2018 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น กล่าวว่า หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจใช้มาตรา 232 จริงก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าเหล็กของไทยไปยังสหรัฐ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณส่งออกสินค้าเหล็กของไทยไปสหรัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ปริมาณส่งออกเหล็กทั้งหมด 383,496 ตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณส่งออกจากปี 2559 ถึง 131% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 10,479 ล้านบาท ในส่วนของสินค้าท่อที่สมาชิกของสมาคมผู้ผลิตท่อฯ ส่งออกไปสหรัฐ เป็นท่อเชื่อมตะเข็บ ปริมาณส่งออกปีที่แล้วประมาณ 109,000 ตัน มูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท แต่ที่เรื่องที่น่ากังวลมากกว่าคือ เหล็กจากประเทศอื่นที่ไม่สามารถขายเข้าสหรัฐได้ จะไหลทะลักเข้ามาประเทศไทย

"ตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ประธานาธิบดี Trump จะตัดสินใจใช้มาตรา 232 หลังจากที่เขาออกมาประกาศ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมาว่าจะกำหนดอากรนำเข้า 25% สำหรับสินค้าเหล็ก โดยไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การตอบโต้ทางการค้าจากประเทศต่างๆและการใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) มาใช้เพิ่มมากขึ้น" นายวรพจน์ กล่าว

นายวรพจน์ กล่าวว่า จะร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งประกอบด้วย (1) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย (2) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย (3) สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น (4) สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (5) สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (6) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และ (7) สมาคมโลหะไทย เข้าพบกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1) ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์แสดงบทบาทเป็นผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ในการแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการในการคัดค้านการบังคับใช้มาตรการ 232 ของสหรัฐ รวมทั้งแสดงข้อกังวลและผลกระทบต่อระบบการค้าเสรีและต่ออุตสาหกรรมเหล็กของไทย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่ออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

2) ขอให้กรมการค้าต่างประเทศบังคับใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ เช่น AD Safeguard อย่างเข้มงวดและรวดเร็ว รวมทั้งเร่งบังคับใช้กฎหมายตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty) โดยเร่งด่วน

นอกจากนี้ อยากร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเหล็ก ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งการบังคับใช้ มอก.บังคับ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าหล็กคุณภาพต่ำที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค และกรมศุลกากรช่วยตรวจสอบติดตามเหล็กนำเข้าที่มีเจตนาหลบเลี่ยงอากรและมาตรการทางการค้าอย่างเข้มงวดด้วย

ด้านนายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี กล่าวว่า มาตรา 232 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดเหล็กในประเทศอย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าเหล็กเป็นอันดับ 3 ของโลก ไทยจึงเป็นตลาดเป้าหมายหลักที่ประเทศต่างๆ จะระบายสินค้าที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (GI) ที่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการปกป้องทางการค้าใดๆ ไม่ว่าจะเป็น เอดี หรือ เซฟการ์ด ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด เพราะขณะนี้ปริมาณนำเข้าก็มากมายมหาศาลอยู่แล้ว ปีที่แล้วยอดนำเข้าประมาณ 1 ล้านตัน เป็นสินค้าจากจีนประมาณ 5 แสนตัน ไต้หวันและเกาหลีใต้รวมกัน 2 แสนตัน ส่วนที่เหลืออีก 3 แสนตัน นำเข้าจากประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น

สิ่งที่น่ากังวลนอกจากผลกระทบทางตรงต่อสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแล้ว ยังพบว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีการนำเข้าเหล็กเคลือบสังกะสี (GI) มาใช้ทดแทนสินค้าเหล็กบางประเภท เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นทาง (upstream) ที่ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทท่อเหล็กและเหล็กโครงสร้างรูปพรรรณบางประเภทอีกด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศทั้งซัพพลายเชน ทั้งนี้เหล็กเคลือบสังกะสี นอกจากไม่มีมาตรการเอดี และเซฟการ์ด แล้วยังเป็นสินค้าที่ยังไม่มี มอก.บังคับ นอกจากจะทำให้สามารถนำเข้ามาได้โดยง่ายแล้ว ยังส่งผลต่อการนำสินค้าด้อยคุณภาพ เช่น การเคลือบบางๆ มาใช้ ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้บริโภคเพราะความคงทนจะลดน้อยลงไปด้วย

นายเชาวรัตน์ จั่นประดับ นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย กล่าวว่า สินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางตรง คือ ทำให้ไทยเสียโอกาสในการส่งออกสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็น รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณส่งออกสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นของไทยไปสหรัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ปริมาณการส่งออกเหล็กแผ่นรีดเย็นทั้งหมด 85,445 ตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณส่งออกในปี 2559 ถึง 68% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,218 ล้านบาท เมื่อยอดขายลดลงย่อมส่งผลต่อปริมาณการผลิตที่ลดลงตามไปด้วย ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น ทำให้ความสามารถแข่งขันด้านราคาจะลดต่ำลงไปอีก สำหรับผลกระทบทางอ้อม สินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นจากทั่วโลกจะทะลักเข้ามาในอาเซียน เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่ไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐได้ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ต้องหาทางส่งออกไปประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีปริมาณการบริโภคเหล็กจำนวนมาก

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดนำเข้าเหล็กที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหภาพยุโรป โดยในปี 2560 มีปริมาณนำเข้าเหล็กกว่า 34 ล้านตัน ซึ่งหากสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถเข้าไปในตลาดสหรัฐได้ ก็จะหันไปส่งออกไปยังตลาดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการไหลทะลักเข้ามาของเหล็กนำเข้าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมเหล็กและตลาดเหล็กของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักของภูมิภาค จากการประเมินประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะส่งเหล็กมาไทย 8 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ตุรกี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน รัสเซีย เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งมีการส่งออกเหล็กคิดเป็น 40% ของยอดส่งออกเหล็กไปสหรัฐ โดยกลุ่มสินค้าหลักจาก 8 ประเทศดังกล่าวที่มีความเสี่ยงจะส่งมาไทย คือ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เนื่องจากยังไม่มีมาตรการทางการค้า

"ปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กในประเทศต้องเผชิญกับปัญหาอัตราการใช้การกำลังการผลิตต่ำ (Underutilization) อยู่แล้ว ประมาณ 30-40% ดังนั้นหากปล่อยให้เหล็กนำเข้าทะลักเข้ามาอีก ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศให้เลวร้ายมากขึ้นอีก" นายวิโรจน์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ