"สมคิด" หนุนลงทุนเทคโนโลยี-นวัตกรรมกระตุ้นศก.โตยกกำลัง มั่นใจปี 61 แตะ 1%ของ GDP แนะใช้ 3 แพลตฟอร์มขับเคลื่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 26, 2018 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ"วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลิกโฉมประเทศไทยสู่ก้าวใหม่ของการพัฒนา" ในงาน CEO Innovation Forum 2018 ว่า ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก เทคโนโลยีสามารถทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพลิกโฉมได้อย่างฉับพลัน ซึ่งในประเทศไทยเอง รัฐบาลมีนโยบาย Thailand 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็งจะมีความได้เปรียบในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้างและ capture value ได้ดี รวมทั้งการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวด้วย

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในยุคสมัยนี้คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนนวัตกรรมดิจิทัลในด้านต่างๆ ได้ ซึ่งอนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะต้องเป็นการเติบโตแบบยกกำลังสอง การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วและรุนแรงจะทำให้เกิดการประยุกต์ใช้ในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งบทบาทของภาครัฐจากนี้ไปจะมุ่งเน้นการพัฒนาให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนให้เอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบนวัตกรรม การพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของภาคเอกชน เพื่อทำให้ประเทศเกิดการพัฒนานวัตกรรมและนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการพัฒนา

"อนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องเป็นแบบยกกำลังสอง ถ้าเราไม่ลงทุน ไม่เปลี่ยนความคิด เราจะไปอยู่อีกซีกหนึ่งของโลก ถ้าเราต้องการจะก้าวต่อไป เรื่องเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราหลีกหนีไม่พ้น แต่ทั้งนี้เราจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน เพราะการเปลี่ยนคนไทยให้เข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวิทยาศาสตร์อาจเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะต้องช่วยกันเปลี่ยนความคิดนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยไปสู่อีกโฉมหนึ่ง เป็นเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สามารถกระจายความมั่งคั่งไปได้ดีและทั่วถึงกว่าที่ผ่านมา" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

พร้อมระบุว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ ต้องสนับสนุนให้เกิดแพลตฟอร์ม และ Ecosystem ที่เหมาะสม เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งแพลตฟอร์มที่จะสร้างขึ้นนั้น ต้องอยู่บนหลักการและเงื่อนไขที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นแล้วจะต้องแน่ใจว่ามีคนไทย และนักธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนการสร้างแพลตฟอร์มให้กับต่างประเทศ ที่ผ่านมา คนไทยเป็น follower เป็นผู้ตามตลาดมานานแล้ว แต่ต่อไปนี้หมดยุคที่คนไทยจะเป็นผู้ตามเพียงอย่างเดียว จะต้องมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นบนแพลตฟอร์มที่เกิดประโยชน์สำหรับคนไทยและนักธุรกิจของไทย

2. จะต้องเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยหรือนักธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้จริง เพราะหากแข่งขันไม่ได้ เมื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจากนี้ต่อไปมิติของการแข่งขันจะไม่ใช่เพียงแค่แข่งขันเฉพาะในเรื่องของต้นทุน หรือค่าแรงอีกต่อไป แต่จะต้องแข่งขันจากนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ และ 3. ต้องให้ความใส่ใจอย่างจริงจังกับแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้น ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้นจะต้องเป็นผู้นำในการเตรียมความพร้อมการทำสิ่งใหม่ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ

"เราต้องเปลี่ยน setting ทางความคิดใหม่ ว่าเราพ้นจากความถดถอยไปแล้ว และกำลังจะก้าวสู่จุดที่ดีกว่าได้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดมาสะดุด เพราะถ้าเราทำให้ดีได้อย่างไม่สะดุด สิ่งที่ดีๆ ก็จะรอเราอยู่ข้างหน้า ดังนั้นการสร้างแพลตฟอร์มต้องอยู่บนเงื่อนไข 3 อย่าง คือ 1.คนไทยต้องอยู่ในนั้นได้ เปลี่ยนจากผู้ตามเป็นผู้สร้าง 2.ต้องแข่งขันด้วยนวัตกรรม ความคิด รวมทั้งเทคโนโลยี และ 3.ต้องให้ความเอาใจใส่อย่างจริงจัง สภาอุตฯ สภาหอฯ จะต้องช่วยเป็นเสาหลัก ที่รัฐบาลต้องการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะอนาคตเราจะแข่งขันกันด้วยนวัตกรรม แต่รัฐบาลไม่สามารถทำคนเดียวได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจไทยอยู่ในมิติใหม่ของการแข่งขัน จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามเชิญชวนทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน" นายสมคิดกล่าว

รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับงบประมาณการลงทุนในส่วนของเทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนในส่วนนี้เพียง 0.2% ของจีดีพี เนื่องจากในช่วงอดีตไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญและคิดว่าเป็นการลงทุนในสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ในปี 2561 มั่นใจว่าจะมีงบลงทุนในส่วนนี้แตะระดับที่ 1% ของจีดีพีแน่นอน

ด้านนายกิติพงศ์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า ผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม รอบการสำรวจประจำปี 2560 พบว่า มูลค่าการลงทุนมีมากกว่า 1 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.78% ของจีดีพี โดยภาคเอกชนไทยมีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนารวมทั้งประเทศราว 8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากรอบการสำรวจในปี 2559 ถึง 39% ถือเป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อมั่นว่าในปี 2561 นี้ จะมีมูลค่าการลงทุนด้านนี้สูงถึง 1% ของจีดีพี และประมาณ 1.6 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพบว่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 การลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีการลงทุนสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสูตรอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อันดับ 2 การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการลงทุนราว 1.18 หมื่นล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ พัฒนาชิ้นส่วนรถใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่ และเพื่อลดต้นทุนการผลิต และอันดับ 3 อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่มีการลงทุน 9.25 พันล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และพัฒนาสินค้าใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ