ผู้ว่าธปท.ยันไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินสร้างความได้เปรียบการค้า แต่จำเป็นต้องดูแลหลังเงินทุนไหลเข้ามาก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 9, 2018 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ระบุว่าจะประกาศบัญชีเฝ้าระวังประเทศที่แทรกแซงค่าเงินเพื่ออุดหนุนการส่งออกในช่วงกลางเดือน เม.ย.นี้ว่า ธปท.จะติดตามรายงานของสหรัฐฯ ว่าเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมาไทยได้หารือกับกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง และชี้แจงมาตลอดว่าไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือเพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการค้า

แต่การแทรกแซงค่าเงินบาทมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงินหลังจากมีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศในปริมาณค่อนข้างมาก จึงไม่ต้องการให้กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเชื่อว่าสหรัฐฯ จะเข้าใจ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศพันธมิตรที่มีการค้ากันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านความผันผวนตลาดเงินตลาดทุนที่มีเพิ่มขึ้น โดยปรับฐานแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาคการลงทุน ราคาสินค้า อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นความท้าทายในปี 61

รวมทั้ง ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้าสหรัฐฯ ซึ่งจะเห็นแนวโน้มการให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจในประเทศตัวเองมากขึ้น และอาจทำให้เกิดสงครามการค้า หากส่งผลรุนแรงมากขึ้นจะเป็นความเสี่ยงที่ประเมินได้ยาก

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วอาจจะกระทบภาคการผลิตและผู้ประกอบการที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้

นายวิรไท กล่าวว่า นโยบายการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯและจีนคงจะมีมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการออกมาตรการมาตอบโต้กัน แต่ขณะนี้ยังกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปคงต้องระมัดระวังมาตรการกีดกันการค้าหากมีเพิ่มขึ้นอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทย ขณะที่สินค้าที่สหรัฐห้ามนำเข้าอาจจะไหลเข้ามาทุ่มตลาดในไทยแทน และอาจกระทบภาคการผลิตไทย แต่ว่าจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการหาตลาดใหม่ได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะตลาดทุนโลกมีความผันผวน อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนชะลอตัวได้

นายวิรไท กล่าวถึงกรณีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ย SME เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กนั้น ที่ผ่านมา ธปท.ติดตามอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดยยอมรับดอกเบี้ยต่ำมานาน ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ระดมทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ เช่น ออกหุ้นกู้ ขณะที่ SME ยังเข้าไม่ถึงอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาเห็นธนาคารปล่อยกู้ SME มากขึ้น แต่ยังใช้อัตราดอกเบี้ย MLR ลบ

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญการช่วยเหลืออาจไม่ได้อยู่ที่สินเชื่ออย่างเดียว เพราะกลุ่ม SME ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน มีปัญหาจากยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน เช่น รูปแบบธุรกิจ และการหาตลาด ซึ่งไม่อาจแก้ไขได้ด้วยสินเชื่อแต่ต้องแก้ไขทั้งโครงสร้าง โดยอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ