ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำแผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอินโด-มาเลย์-ไทย (IMT-GT)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 24, 2018 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมในการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 11 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (IMT-GT) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนของไทยและเป็นประธานการประชุม ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 เม.ย.61 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 32 ที่ประเทศสิงคโปร์

การประชุมครั้งนี้ จะมีร่างแถลงการณ์ร่วม ซึ่งวันนี้ ครม.ได้รับทราบและเห็นชอบแล้ว โดยมีสาระสำคัญ คือ การรับทราบและแสดงความชื่นชมต่อการสำเร็จที่ผ่านมาของโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และพัฒนาแผนปฏิบัติการเมืองสีเขียว

รวมท้งจะมีการระบุกรอบ ทิศทางการขับเคลื่อนแผนงานที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในอนาคต เช่น การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส กับรัฐเประ และรัฐกลันตัน ของประเทศมาเลเซีย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย รวมถึงการจัดมหกรรมสินค้า IMT-GT ครั้งที่ 4 ที่ จ.สงขลา ในเดือนก.ค.61

อย่างไรก็ดี ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ประชุมจะมีการรับรองเอกสารโดยผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1. ร่างเอกสารวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน เพื่ออาเซียนที่มีความเข้มแข็งและนวัตกรรม ประเด็นสำคัญ คือ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการป้องกันและการต่อต้านแนวความคิดหัวรุนแรงของลัทธิสุดโต่ง การจัดทำถ้อยแถลงร่วมของอาเซียนเพื่อย้ำความสำคัญของกฎระเบียบทางไซเบอร์ และความจำเป็นที่จะต้องมีบรรทัดฐานของพฤติกรรมไซเบอร์ขั้นพื้นฐาน และย้ำข้อริเริ่มสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงไซเบอร์ และส่งเสริมศักยภาพในอาเซียน

2. ร่างถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นการตระหนักถึงความจำเป็นสำหรับสมาชิกอาเซียนทั้งหมดในการปฏิบัติตามมาตรการการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและรับรองบรรทัดฐานร่วมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ โดยไม่ผูกพัน เพื่อให้รัฐมีพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบในพื้นที่ไซเบอร์ เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นในการใช้พื้นที่ไซเบอร์อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเกิดการบูรณาการและความมั่งคั่งมากขึ้น

3. ร่างเอกสารแนวคิดเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยสมาชิกและผู้แทนระดับชาติ โดยร่วมกันสำรวจความส่งเสริมระหว่างกันที่สามารถเกิดขึ้นได้ การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี พัฒนาแผนปฏิบัติการเฉพาะเมืองสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างปี 61-68 และจัดทำกรอบการดำเนินงานในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับอาเซียน

นอกจากนี้ ยังมีการกระตุ้นให้เกิดโครงการน่าลงทุนกับภาคเอกชน โดยเมืองสมาชิกจะได้รับการเชื่อมโยงกับบริษัทที่ให้บริการแนวทางพัฒนาเมืองจากภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อจะเริ่มโครงการให้เป็นรูปธรรมและสามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์โดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ