เอกชนห่วงบาทแข็งกดดันความสามารถแข่งขันส่งออกอาหารไทยปีนี้ แถมราคาพลังงานสูง-ขึ้นค่าแรงดันต้นทุนเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 26, 2018 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า การส่งออกอาหารของไทยในปีนี้เผชิญปัจจัยเสี่ยงในเรื่องการแข็งค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ในรูปเงินบาทลดลง และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา รวมทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนสินค้า แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม และต้นทุนแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในช่วงไตรมาส 1/61 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่าส่งออก 247,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทชะลอลงเล็กน้อยอันเนื่องมาจากการแข็งค่าของเงินบาท แม้ว่าหากคิดในรูปดอลลาร์มีมูลค่าส่งออก 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10%

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกในช่วงไตรมาสแรกนี้ ได้แก่ ข้าว 44,098 ล้านบาท(+9.53%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 29,022 ล้านบาท (+14.05%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 28,168 ล้านบาท (-4.88%) ไก่(แปรรูป/ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง) 23,473 ล้านบาท(+24.06%) และน้ำตาลทราย 18,728 ล้านบาท(-10.17%)

นายยงวุฒิ กล่าว่า อุตสาหกรรมอาหารของไทยในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออก 1.12 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.015 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจน หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจร่วมมือกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในหลากหลายมิติ อาทิ การมุ่งเน้นการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน จีน แอฟริกา และตะวันออกกลาง

รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน อาหารสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ (Functional food) หรือในกลุ่มอาหารที่คาดว่าจะเป็นอนาคต (Future food) การยกระดับมาตรฐานการผลิตให้สินค้ามีคุณภาพและความปลอดภัย (Food safety) มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้สามารถขยายธุรกิจไปสู่ตลาดส่งออกได้ การนำนวัตกรรม (Innovation) มาปรับใช้มากขึ้น ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High-Value Added) ออกสู่ตลาดมากขึ้น และการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ