(เพิ่มเติม) ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยมี.ค.ยังขยายตัวต่อเนื่อง คาด GDP Q1/61 โตใกล้เคียง Q4/60 ที่โต 4.0%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 30, 2018 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค. 61 ยังขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี สอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ ด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อน การใช้จ่ายภาครัฐลดลงตามรายจ่ายลงทุนขณะที่รายจ่ายประจำยังคงขยายตัว

ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/61 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับไตรมาส 4/60 ที่ขยายตัว 4.0%

น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/61 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ของปี 60 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกที่ขยายตัวดีในเกือบทุกหมวดสินค้า และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจากจีน

"เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้ คาดว่าจะโตต่อเนื่องใกล้เคียงกับไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4%" น.ส.พรเพ็ญกล่าว

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีในทุกหมวดการใช้จ่าย สอดคล้องกับกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามการผลิตเพื่อส่งออก และเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศ ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำเป็นสำคัญ การลงทุนภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยจากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้าง ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ยังคงขยายตัว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงตามราคาอาหารสด โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ที่ยังคงหดตัวหลังจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาก๊าซหุงต้มขยายตัวชะลอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับไตรมาสก่อน อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน

น.ส.พรเพ็ญ ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ยังมีทิศทางเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากไตรมาสแรก หากไม่มีปัญหามาทำให้สะดุด โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศใหญ่ นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนมากขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้เห็นการกระจายตัวที่มากขึ้นในแง่ของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนก็จะมีทิศทางที่ดีขึ้นตามมา

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัจจัยด้านต่างประเทศในเรื่องของนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ รวมทั้งปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ แม้ในระยะหลังสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลงแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศยังคงต้องติดตามการฟื้นตัวและการกระจายตัวของเศรษฐกิจในภาคต่างๆ ต่อไป

"ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องระวัง คือเรื่องนโยบายกีดกันทางการค้า เราคงต้องตามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่หลังๆ มีทีท่าที่เบาลง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ ขณะที่ในประเทศต้องดูการฟื้นตัวและกระจายตัวในภาคต่างๆ ต่อไป" ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท..บุ

พร้อมมองว่ากำลังซื้อในภาคเกษตรของไทยมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าจะเป็นการฟื้นตัวแบบอ่อนๆ เนื่องจากต้องใช้เวลาอีกสักระยะ หลังจากที่ภาคเกษตรประสบกับปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีการก่อหนี้กันพอสมควร

น.ส.พรเพ็ญ ยังกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.61 ว่า ขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกในเกือบทุกหมวดสินค้าตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวดีในทุกกลุ่มสัญชาติหลัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน สอดคล้องกับการเปิดเส้นทางการบินใหม่จากเมืองรองของประเทศจีนมายังไทย ตลอดจนนักท่องเที่ยวยุโรปขยายตัวดีจากผลของการเหลื่อมวันหยุดในช่วงเทศกาลอีสเตอร์มาอยู่ในเดือนมี.ค.นี้

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องในเกือบทุกหมวด แต่ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็งมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ส่วนรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมเริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นบ้าง ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพื่อตอบสนองความต้องการจากทั้งในและต่างประเทศ

ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนปรับลดลงตามรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานสูงตามการเร่งเบิกจ่ายในปีก่อน ขณะที่รายจ่ายประจำยังคงขยายตัวได้

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคการผลิต ส่วนเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง และสามารถรองรับความผันผวนจากตลาดการเงินโลกได้ สะท้อนจากเครื่องชี้ต่างๆ ที่อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์สากล

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นเดือนมี.ค.61 พบว่า อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ แต่ทั้งนี้ในช่วงเดือนเม.ย.อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากเดือนมี.ค. ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐของนักลงทุนต่างชาติเพื่อซื้อพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีปัจจัยพิเศษภายในประเทศจากการทำสัญญาซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้าของบริษัทเอกชนไทยขนาดใหญ่ เพื่อซื้อกิจการในต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ