(เพิ่มเติม1) กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50%หนุนเศรษฐกิจขยายตัว คาด GDP ปีนี้มีโอกาสโตสูงกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 16, 2018 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้กรรมการ 1 ท่านลาประชุม

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงส่งจากทั้งภาคต่างประเทศและอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น และดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยเข้าสู่กรอบล่างของคาดการณ์แล้วในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน

"โดยรวม คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้" เลขานุการ กนง.ระบุ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงส่งจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว แม้ว่าการจ้างงานมีสัญญาณปรับดีขึ้น แต่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าปัญหาดังกล่าวต้องแก้ไขด้วยนโยบายเชิงโครงสร้าง

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจ และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ มาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากราคาอาหารสดที่อยู่ในระดับต่ำตามผลผลิตที่ออกมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต อาทิ การขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce และการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมปรับสูงขึ้น

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นบ้าง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทเทียบสกุลเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยในช่วงที่ผ่านมา ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน การคลังและการค้าระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมหลัก คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ

"มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ แต่ต้องติดตามความเข้มแข็งของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการของเงินเฟ้อในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ" นายจาตุรงค์ ระบุ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลายประเทศจะมีทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็ไม่ได้เป็นแรงกดดันให้กับประเทศไทย เพราะไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศในระดับที่ดี ทำให้มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยพิจารณาปัจจัยภายในประเทศได้มากขึ้น ทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พูดถึงทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2561 มีแนวโน้มดีกว่าที่คาดไว้ และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้จากที่ประมาณการไว้เดิม 4.1% แต่ก็จะต้องดูการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/61 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงวันที่ 21 พ.ค.2561 นี้อีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ