(เพิ่มเติม) ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยเม.ย.ขยายตัวดีจากส่งออก-ใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อน ขณะท่องเที่ยวโตชะลอลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 31, 2018 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย.61 ขยายตัวดี โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ต่างประเทศและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งจากการเหลื่อมเดือนของวันหยุดอีสเตอร์ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวจากรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ

นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสดที่กลับมาขยายตัว อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวที่ 14.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 14.1% โดยเป็นการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หมวดสินค้าที่ขยายตัวเป็นส้าคัญ ได้แก่ 1) สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบขยายตัวทั้งในด้านราคาและปริมาณตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 2) ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ตามการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิ ยางล้อและเครื่องยนต์ รวมถึงการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะ 3) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ได้รับผลดีจากการขยายก้าลังการผลิตในช่วงก่อนหน้า และอุปกรณ์โทรคมนาคมตามการส่งออกโทรศัพท์มือถือ ส่วนหนึ่งจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทยในช่วงก่อนหน้า และ 4) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกผลไม้ที่ขยายตัวทั้งด้านปริมาณและราคา ขณะที่การส่งออกข้าวและมันสำปะหลังขยายตัวจากด้านราคา

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด ยกเว้นในหมวดสินค้าไม่คงทนที่ทรงตัว ส้าหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมมีทิศทางปรับดีขึ้นแม้ยังไม่เข้มแข็งมากนัก โดยรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมปรับดีขึ้น ส่วนรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมหดตัวชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกันโดยเฉพาะการผลิตในหมวดยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะหมวดอุปกรณ์โทรคมนาคม พลังงาน และคอมพิวเตอร์ ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ส่วนหนึ่งจากฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน และยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการลงทุนที่ขยายตัวต่อเนื่องในหลายหมวด ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เมื่อปรับฤดูกาลแล้วเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการน้าเข้าสินค้าทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า หลังจากลดลงมากในเดือนก่อนหน้า

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวที่ 9.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวยุโรป (ไม่รวมรัสเซีย) หดตัวจากการเหลื่อมเดือนของวันหยุดอีสเตอร์ซึ่งในปีนี้เริ่มปลายเดือนมีนาคม และนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ชะลอการท่องเที่ยวก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เมื่อปรับฤดูกาลแล้วจ้านวนนักท่องเที่ยวลดลง 2.1% จากเดือนก่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงในเกือบทุกกลุ่มหลัก

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวจากการเบิกจ่ายเพื่อซ่อมบำรุงอากาศยาน การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และการเบิกจ่ายงบกลุ่มจังหวัดและงบกลาง ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัวจากรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรเป็นสำคัญ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 22.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 22.8% โดยเป็นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ได้แก่ 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวตามการน้าเข้าเชื้อเพลิงจากทั้งด้านราคาและปริมาณ การนำเข้าโลหะ เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในหมวดดังกล่าว 2) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามการนำเข้า ทั้งหมวดสินค้าไม่คงทนและสินค้าคงทน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 3) หมวดยานยนต์และชิ้นส่วนขยายตัวสอดคล้องกับการผลิตและยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง และ 4) หมวดสินค้าทุนขยายตัวดีในหลายสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดอุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม และหมวดพลังงาน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.07% เพิ่มขึ้นจาก 0.79% ในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาอาหารสดที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.64% ทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านหนี้สินเป็นสำคัญ ตามการขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ