นายกฯเผยแผนบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ในปี 61 เพิ่มงานอีก 216 โครงการ ใช้งบฯ 4 พันกว่าลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday June 2, 2018 10:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า ปี 2561 นับเป็นปีแรกที่ไม่มีพื้นที่ใดของประเทศ ต้องประกาศเขตให้การช่วยเหลือภัยแล้ง โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่บูรณาการ เชื่อมโยงกันเป็นระบบนำไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุด วัดได้จากการดำเนินงานในภาพรวมที่เร็วขึ้นกว่าในอดีต 4 เท่า และประหยัดงบประมาณลงได้กว่าช่วงที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 30

สิ่งสำคัญคือ การดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ มีการจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2579 ที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วย นอกจากจะมีการน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้แล้ว ยังได้คำนึงถึงปฏิญญาสากล จากการประชุมน้ำโลก ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การร่วมมือกันของรัฐบาลทั่วโลก การร่วมมือข้ามพรมแดน โดยยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ ในการแก้ปัญหาน้ำ และสุขาภิบาล อีกทั้ง การเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นต้น ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะจัดให้มีการสร้างการรับรู้ และเสวนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ในวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน นี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค สามารถสร้างระบบประปาหมู่บ้านได้ 97% จาก 7,490 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ ที่ยังมีไม่ครบ ประปาโรงเรียนดำเนินการแล้วเสร็จ เกือบ 2,000 แห่ง และเจาะบ่อบาดาลได้ เกือบ 2,000 แห่ง เช่นกัน ก็คงต้องทำต่อไป ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

การสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้ภาคการผลิต เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน การขุดสระน้ำในไร่นา การเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร และ น้ำบาดาลช่วยภัยแล้ง เป็นต้น มีประชาชนได้รับผลประโยชน์กว่า 3 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 2 ล้านไร่

การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ได้แก่ การขุดลอกลำคลอง ลำน้ำสาขา แม่น้ำสายหลัก เกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม 63 ชุมชน ก็ยังคงมีอีกในที่อื่น ๆ ก็ทำต่อไป

การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายหน้าดิน โดยดำเนินการแล้ว 3 แสนกว่าไร่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดการคุณภาพน้ำและที่จะสร้างความยั่งยืนคือ การเร่งรัดออกกฎหมายทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ เราต้องศึกษาผลกระทบในคราวเดียวกันด้วย

สำหรับแผนงานบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ปี 2561 นี้ มีแผนงานที่ผ่านการพิจารณาให้ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 216 โครงการ งบประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท เพื่อให้ได้น้ำ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ ราว 9 แสนไร่ และในปี 2562 มีอีกกว่า 3 พันโครงการ ที่กำลังพิจารณาจัดลำดับความเร่งด่วนและ ให้เกิดการใช้งบประมาณที่ประหยัด คุ้มค่า ได้ประโยชน์สูงสุด ตรงความต้องการของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้จะต้องมีการลงทุนสร้างระบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการตกลงใจเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ อาทิ ระบบงานแผนที่ ระบบงานแบบจำลอง ระบบงานคลังข้อมูลน้ำ ระบบงานสถานีตรวจวัดเป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถพยากรณ์และ ติดตามสภาพลมฟ้าอากาศ ที่จะช่วยให้สั่งการในเรื่องการเก็บกักน้ำ การพร่องน้ำ การใช้พื้นที่แก้มลิง เรียกรวม ๆ ว่าเป็นการบริหารจัดการที่บูรณาการกัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การบริหารจัดการน้ำ สำหรับภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ ที่เราต้องเตรียมการในระยะยาว ตั้งแต่วันนี้ ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เนื่องจากจะเป็นกลจักรสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ในยุคดิจิทัล หรือ อีกอย่างน้อย 20 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องมีการศึกษาแนวเส้นทางการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนภายในประเทศ รวมทั้งป้องกันน้ำท่วมพื้นที่สำคัญของ EEC อีกด้วย

ทั้งนี้ ในระยะ 10 ปีแรกนี้ จำเป็นต้องมีน้ำใช้ในระบบโครงข่ายเพิ่มอีก 320 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยจะต้องดำเนินการในหลายส่วน อาทิ การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม การพัฒนาอ่างเก็บน้ำ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ การสูบกลับน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำ แผนป้องกันน้ำท่วม และการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ส่วนแผนสำหรับรองรับอนาคต ระยะ 20 ปี ก็จะมีการเพิ่มเติมแผนการพัฒนาอ่างเก็บน้ำ ภาคตะวันออก 104 แห่ง ปริมาณน้ำ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้ง แนวทางการบริหารจัดการความต้องการการลดการใช้น้ำ การใช้น้ำซ้ำ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งหลายประเทศมีเทคโนโลยีนี้แล้ว เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เช่น สิงคโปร์ อิสราเอล และการหาแหล่งน้ำสำรองของอุตสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จใน EEC ก็จะเป็นโมเดลสำหรับการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง ต่อไปด้วย ทั้งนี้ ไม่ใช่เศรษฐกิจหรือการลงทุนอย่างเดียว แต่เพื่อประชาชนในพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้วใน 3 จังหวัดด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ