ภาครัฐ-ภาคธุรกิจ-ภาคประชาสังคม ประกาศเจตนารมณ์ลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 70

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 5, 2018 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) หน่วยงานภาคเอกชน และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหา ได้ร่วมมือกันริเริ่ม "โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน" ซึ่งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการขับเคลื่อนโครงการไปด้วยกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อจัดการปัญหาขยะและส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 และมีพันธมิตรเข้าร่วมโครงการทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และ ภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้นกว่า 20 หน่วยงาน ปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับ 6 ใน 192 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่าประเทศไทย มี 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ซึ่งมีปริมาณขยะประมาณ 11.47 ล้านตัน โดยที่ขยะปริมาณกว่าร้อยละ 14 (หรือประมาณ1.55 ล้านตัน) มีขยะพลาสติกอยู่ประมาณ 340,000 ตัน ร้อยละ 10-15 มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ทะเลได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลโดยรวมและสัตว์ทะเล

"โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน" มีวัตถุประสงค์เพื่อทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 และส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับพลาสติก ผ่านการส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานธุรกิจรีไซเคิล การส่งเสริมผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ครอบคลุมไปถึงการใช้หลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและประชาชนในการคัดแยกขยะและจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางที่ถูกวิธี เพื่อสร้างวัฒนธรรมและเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค การสร้างโมเดลเมืองสะอาดในพื้นที่นำร่องกรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย และ จังหวัดระยอง และการจัดทำฐานข้อมูลพลาสติกในประเทศไทย (Thailand Plastic Material Flow Database) ให้เป็นเครื่องชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการและเป็นข้อมูลพลาสติกของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการฯ นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการจัดการปัญหาขยะและการใช้พลาสติกอย่างถูกต้องในประเทศไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสมาชิกภายใต้กลุ่มพลาสติกที่มีผู้ผลิตกว่า 177 บริษัท ซึ่งจะมีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีพลาสติกที่จะช่วยให้ใช้พลาสติกในการผลิตน้อยลงหรือนำกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิลได้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิด Circular Economy ได้จริง

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธาน องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า พลาสติกเป็นทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้และมีคุณค่า สามารถนำมาสร้างประโยชน์ต่อเนื่องในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy แต่การจัดการทรัพยากรพลาสติกเหลือใช้จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่เพียงกลุ่มผู้ผลิตพลาสติกเท่านั้น แต่ทุกภาคธุรกิจล้วนมีส่วนร่วม เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่มีบทบาทในธุรกิจในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านบรรจุภัณฑ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายขององค์กรฯ โครงการฯ นี้นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยที่จะแก้ปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืน

นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร สามารถจัดเก็บขยะประเภทถุงพลาสติกได้วันละประมาณ 80 ล้านชิ้น โดยเฉลี่ยประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้ถุงพลาสติกคนละ 8 ชิ้นต่อวัน ซึ่งปัญหาที่พบคือ หลังจากที่ประชาชนใช้ถุงพลาสติกแล้วก็จะทิ้งทันที ปัจจุบันการฝังกลบมีค่าใช้จ่ายตันละ 700 บาทและพื้นที่ใช้สำหรับการฝังกลบกำลังจะไม่เพียงพอ จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมมือกันเพื่อลดปริมาณขยะ ทั้งการลดปริมาณการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งและจัดการคัดแยกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำพลาสติกกลับไปใช้ได้หมดไม่ต้องเหลือทิ้งในสิ่งแวดล้อม

นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและโครงการฯ จะร่วมมือกันในการให้ความรู้กับชุมชนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ เพื่อช่วยให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพและตัวขยะที่คัดแยกได้มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการรีไซเคิลรายเล็กรายย่อยให้มีมาตรฐานและศักยภาพมากขึ้น และจัดฝึกอบรมบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงาน

นายสมชัย มาเสถียร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การสร้างจิตสำนึก สร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลาสติก และปรับพฤติกรรมการคัดแยกขยะตั้งแต่เยาวชน เพื่อให้มีการใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลด การเลิก และการผลักดันนวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติก ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกจำพวกถุง หลอด ขวด ฝาจุก และภาชนะบรรจุอาหาร ที่กลายเป็นปัญหาขยะทะเล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ แหล่งท่องเที่ยว สภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเล และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ"

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดการปัญหาพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความทุ่มเทจากทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการต้องพร้อมที่จะเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการนำนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าขยะพลาสติก ซึ่งทางกระทรวงฯ พร้อมให้ความรู้และคำปรึกษาเพื่อให้หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาปรับใช้ได้จริง

นายณรงค์ บุณยสงวน รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจในโครงการที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันและต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน สำหรับโครงการฯ นี้ เราได้เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ และหวังว่าแนวทางการร่วมมือเช่นนี้จะขยายวงกว้างขึ้นไปอีก เพื่อจัดการ แก้ไข และป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่อๆ ไป

การดำเนินโครงการนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะและการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับพันธมิตรโครงการประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม โดยภาครัฐ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม

ภาคธุรกิจ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

ภาคประชาสังคมและองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สมาคมสร้างสรรค์ไทย และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ