สศก. จัด 19 ทีมติดตามประเมินผล 22 โครงการ ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 12, 2018 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561 ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จำนวน 2 แผนงาน รวม 22 โครงการ งบประมาณ 24,993 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าทางการเกษตร และยกระดับรายได้เกษตรกรนั้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผลแผนงานยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร โดยมีนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. เป็นประธาน เพื่อติดตามประเมินผลโครงการและให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการได้มีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จตามเป้าหมาย

ในการนี้ สศก. ได้จัดทีมประเมินผลออกเป็น 19 ทีม ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ประเมินผล และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ สำหรับการปฏิบัติงานลงพื้นที่สำรวจข้อมูลติดตามประเมินผล สศก. กำหนดไว้ 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 การเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 10 - 30 มิถุนายน 2561 และจัดทำรายงานเดือนกรกฎาคม 2561 และช่วงที่ 2 เก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 1 - 31 สิงหาคม 2561 และจัดทำรายงานเดือนกันยายน 2561 โดยกำหนดประเด็นการติดตามประเมินผล 7 ด้าน ได้แก่ 1) การรับรู้/รับทราบโครงการ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือรัฐบาล

2) การได้รับสนับสนุน/ช่วยเหลือ/จ้างงานจากโครงการ เช่น การสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย/ชุมชน การชี้แจงหลักเกณฑ์การสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายทราบ คุณภาพของปัจจัยการผลิตที่สนับสนุนได้มาตรฐาน การจ้างงานมีความทั่วถึงกับกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น 3) การได้รับองค์ความรู้จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4) การนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติในพื้นที่ของเกษตรกร

5) การได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การลดต้นทุนการผลิต ปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น มูลค่าของผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการแปรรูป รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น มีตลาดเพื่อรองรับผลผลิตที่เพียงพอ เป็นต้น 6) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และ 7) ระดับความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในด้านต่าง ๆ

ทั้งนี้ ทีมประเมินผลทั้ง 19 ทีม จะได้จัดทำแผนปฏิบัติงานลงพื้นที่ และประสานหน่วยงานรับผิดชอบโครงการในระดับพื้นที่เพื่อร่วมในการติดตามประเมินผล และสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมข้อเสนอแนะต่าง ๆ เสนอผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ เพื่อปรับปรุง พัฒนางานให้สำเร็จลุล่วง เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรทั่วประเทศต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ